• พุธ. ต.ค. 9th, 2024

โรงงานไฟฟ้าเปิดใจ ยืนยันมุ่งมั่นกำจัดขยะ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างงานสร้างโอกาสในการพัฒนาท้องถิ่น

วันนี้ (1 ก.ค. 2566) ที่ห้องประชุมโรงเรียนพิพัฒน์ราษฎร์บำรุง ถนนสัญจรราชกิจ ต.กมลาไสย อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ บริษัท กาฬสินธุ์รุ่งเรือง ไบโอเพาเวอร์ 2012 จำกัด จัดงานแถลงข่าวเพื่อสร้างความเข้าใจในการบริหารจัดการขยะที่กำลังเป็นปัญหาในหลายๆ พื้นที่ รวมถึงจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยทางบริษัทยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการหาวิธีที่ดีที่สุด ในการนำมาช่วยลดปริมาณขยะที่กำลังมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากหากทำการกำจัดขยะเพียงแค่วิธีการฝังกลบ อาจไม่เพียงพอและไม่เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีสื่อมวลชนเข้าร่วมงานแถลงข่าวอย่างพร้อมเพรียง

ดร.ณัฎฐ์สิชา ภาภัคธนานันท์ กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม บริษัท กาฬสินธุ์รุ่งเรืองไบโอเพาเวอร์ 2012 จำกัด ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า “โครงการนี้ทางบริษัทฯ ได้ดำเนินการมาในระยะเวลาที่ยาวนานมาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งเกิดจากปัญหาการจัดการขยะของประเทศเรา ที่เราได้รับทราบมา แรกเริ่มเลยเมื่อปี 2557 ดิฉันอยู่ที่สมุทรปราการ เกิดบ่อขยะไฟไหม้ มีพื้นที่ 153 ไร่ เกิดปัญหาไฟฟ้าปะทุคุกคามอยู่ตรงนั้นหลายวัน ทำให้เกิดมลพิษ ควันพิษจำนวนมาก ซึ่งทำให้เกิดสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (เป็นก๊าซไม่มีสีที่มีกลิ่นแรง หายใจไม่ออก และฉุน เป็นรูปแบบที่พบบ่อยที่สุดของซัลเฟอร์ออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์อยู่ในกลุ่มของก๊าซที่มีปฏิกิริยาสูงที่เรียกว่าซัลเฟอร์ออกไซด์ ซัลเฟอร์ออกไซด์ทำปฏิกิริยาได้ง่ายเพื่อสร้างสารประกอบที่เป็นอันตรายหลายอย่าง เช่น กรดกำมะถัน) ปริมาณมากขึ้นกว่าปกติถึง 30 เท่าในบริเวณนั้น ต้องอพยพประชากรออกจากบริเวณนั้นในรัศมีรอบๆ 1.5 กิโลเมตร บริษัทฯ ดิฉันอยู่ห่างจากที่นั่นประมาณ 2 กิโลเมตร และยังมีฝุ่นละอองในปริมาณ 650 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรอยู่ในบริเวณนั้น ซึ่งปัจจุบันทุกวันนี้ที่เรามีปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 ร่างกายของเราไม่ควรรับเกิน 25 ไมโครกรัมฯ ซึ่งบริเวณนั้นมีสูงถึง 650 ไมโครกรัมฯ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนในชุมชนและสิ่งแวดล้อม”

ดร.ณัฎฐ์สิชา กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในส่วนของอำเภอกมลาไสย มีขยะที่จะต้องจัดการต่อวันประมาณ 320 ตัน/วัน ซึ่งรวมเป็นปีแล้วก็อยู่ที่ 102,400 ตัน/ปี บริษัทฯ เราก็จะต้องเอาไปกำจัด แล้วทำให้เปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะนำประโยชน์มาให้กับคนในท้องถิ่น ประชากรก็จะมีรายได้ มีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น มีการเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งในจังหวัดกาฬสินธุ์ และบริเวณชุมชนใกล้เคียงอย่างแน่นอน เพราะเราต้องรับคนในพื้นที่มาทำงานช่วยคัดแยกขยะ และดูแลเครื่องจักร และงานด้านต่าง ๆ ในโรงงานไฟฟ้าด้วย”

ด้านนายเลอศักดิ์ อิ้มทับ กรรมการผู้จัดการบริษัท มิสเตอร์ทอมเอ็นจิเนียริง จำกัด (ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และเครื่องจักรในการผลิตไฟฟ้า) กล่าวว่า “บริษัทเราเป็นผู้ออกแบบและสร้างโรงไฟฟ้าด้านการจำกัดขยะโดยเฉพาะ บริษัทได้มีการติดตั้งเครื่องจักรที่เกี่ยวกับการขยะอยู่ในประเทศไทยผ่านมาแล้วหลายโครงการ ซึ่งโครงการที่กมลาไสยนี้ก็เป็นอีก 1 โครงการเหมือนกันที่เราได้นำเทคโนโลยีเตาเผาขยะ 2 ขั้นตอน หรือเรียกว่าระบบแก๊สซิฟิเคชัน (แก๊สซิฟิเคชัน คือกระบวนการพิเศษที่แปลงวัสดุคาร์บอนพื้นฐาน (carbon-based materials) ทั้งในรูปของแข็งและของเหลว อาทิเช่น ขยะชุมชน หรือชีวมวล ให้อยู่ในรูปของก๊าซ) 2 Chamber เผา 2 รอบ เราเอาเทคโนโลยีนี้มาจากต่างประเทศที่มีความเชื่อถือได้ และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์อยู่หลายโครงการ เราเชื่อมั่นว่าที่กมลาไสยแห่งนี้ จะเป็นอีกโครงการหนึ่งซึ่งเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จเหมือนกับโครงการที่ผ่านมา”

นายปรีชาวิทย์ รอดรัตน์ ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม บริษัท เอ็นไว เวิร์ค จำกัด (บริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม จัดทำรายงาน CoP และ ESA) กล่าวว่า “โรงไฟฟ้าโรงนี้ ก็ได้มีการออกแบบเรื่องระบบป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมหลายๆ เรื่อง เรื่องแรกเรื่องเชื้อเพลิงที่เข้ามาในโรงงานไฟฟ้าไม่ได้เป็นขยะสดโดยตรง จะต้องมีการคัดแยกและเอาขยะอันตรายออกก่อน เอาเฉพาะเชื้อเพลิงแห้งเข้ามาในโรงงานไฟฟ้า ซึ่งปริมาณที่จะเข้ามาก็ใช้รถบรรทุกประมาณวันละ 8 คันเท่านั้นเอง ไม่เยอะ ส่วนที่สองก็คือว่าเชื้อเพลง RDF ที่ผ่านการแยกแล้ว จะถูกเก็บในอาคารหรือในบ่อที่เป็นระบบปิด และก็มีการควบคุมอากาศให้มีความดันต่ำ เพื่อจะให้ในห้องไม่มีอากาศออกไปข้างนอก และรวบรวมอากาศในห้องไปเผาทำลายที่เตาเผานั่นคือการควบคุมกลิ่น ส่วนน้ำที่อาจจะติดมาด้วยกับเชื้อเพลิง ก็จะนำเข้าเตาเผาเช่นเดียวกัน แล้วเตาเผาเองก็ถูกออกแบบให้มีเตาเผา 2 ขั้นตอน เพื่อให้เกิดการเผาไหม้แบบสมบูรณ์ และก็ควบคุมอุณหภูมิให้มากกว่า 800 องศาฯ ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล อันที่สามก็จะมีระบบควบคุมมวลสาร โดยเฉพาะในเรื่องของสารด่าง ไปจับก๊าซกรดที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้ แล้วจะมีการใช้ผงถ่านคาร์บอนไดดูดซับพวกไดออกซินที่อาจจะเกิดขึ้น หรือโลหะหนัก หลังจากนั้นพวกผงถ่านหรือผงด่านที่ดูดซับพวกมวลสารก็จะถูกเข้าถุงกรอง ซึ่งถุงกรองตรงนี้มีประสิทธิภาพด้านการดักฝุ่นได้ถึง 99% แล้วก๊าซที่ผ่านการกรองก็จะถูกปล่อยออกปล่องระบาย ซึ่งสอดคล้องกับค่ามาตรฐาน นั่นคือการควบคุมมลพิษ”

โรงไฟฟ้าโรงนี้จะมีการหมุนเวียนการใช้น้ำ โดยไม่มีการระบายออกสู่ภายนอก ดังนั้นทั้งเรื่องของอากาศ ทั้งเรื่องของน้ำ ก็ไม่ต้องกังวลเพราะเป็นระบบปิด ส่วนเรื่องของกากขี้เถ้าที่เกิดขึ้นก็จะมี 2 ส่วน กากขี้เถ้าหนักก็จะถูกส่งให้หน่วยงานที่รับกำจัด หรือสามารถเอาไปใช้เป็นประโยชน์ได้ อย่างเช่นเอาไปผสมปูนซีเมนต์ ส่วนขี้เถ้าเบาซึ่งเกิดจากถุงกรองเมื่อกี้ ก็มีวิธีกำจัดเช่นเดียวกันคือส่งให้หน่วยงานที่ได้รับอนุญาตจัดการต่อไป โรงงานไฟฟ้าแห่งนี้ใช้เชื้อเพลิงแห้ง ไม่มีการนำขยะสดเข้ามา และอยู่ในอาคารปิด ก็จะไม่ทำให้เกิดในเรื่องปัญหาของกลิ่นและแหล่งเพาะพันธุ์พาหะนำโรคต่าง ๆ ซึ่งไม่เหมือนกับบ่อขยะเดิมที่มีอยู่ในปัจจุบันที่มีการจัดการขยะแบบเทกองไว้กลางแจ้ง ก็จะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน หากมีฝนตกลงมาน้ำก็จะถูกชะลงแหล่งน้ำหรือแหล่งน้ำใต้ดิน แต่ภาพเหล่านั้นจะเปลี่ยนไปเพราะรถขยะที่วิ่งเข้ามาในโรงคัดแยกจะเข้าอาคารเลย ไม่ได้ไปกองอยู่กลางแจ้ง และก็ถูกแยกหมดเป็นวัน/วัน ไม่เกิดการสะสม ให้ชาวบ้านมั่นใจได้ว่าดีกว่าเดิมมาก นายปรีชาวิทย์กล่าวเสริม

ส่วนนางประนอม คงเมือง อายุ 58 ปี อยู่บ้านเลขที่ 135 บ้านปากน้ำ หมู่ 12 ต.กมลาไสย ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า “จากที่ได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงานที่จังหวัดร้อยเอ็ด เขาจะมีการแยกขยะเป็นขยะแห้งขยะเปียก แล้วเอาเฉพาะขยะแห้งส่งไปตามโรงงานไฟฟ้าต่าง ๆ จากที่ไปดูมาคิดว่าดีทำให้ได้ประโยชน์จากการคัดแยกและกำจัดขยะ ไม่พบมีแมลงวัน หรือมีนิดหน่อยที่กองขยะที่อยู่ระหว่างการคัดแยกแค่นั้น ส่วนปัญหาควันพิษก็ไม่พบ หากทำการกำจัดขยะแบบฝังกลบก็จะมีแมลงวันมีน้ำเสีย แต่ถ้าระบบของ RDF มันจะเป็นขยะแห้งที่เขาคัดแยกมาแล้วอัดเป็นขยะแห้งมา เราคิดว่ามันเป็นการกำจัดที่ถูกวิธีที่ดีมาก”

โดยโรงงานได้จัดสร้างที่ตำบลกมลาไสย ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวนี้ เทศบาลตำบลกมลาไสย ได้ขอความอนุเคราะห์มูลนิธิสิ่งแวดล้อมศึกษา จัดทำรายงานศึกษาและวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการฯ โดยคำนึงถึงความเหมาะสม ไม่ส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด พบว่าพื้นที่ดังกล่าวสามารถก่อตั้งได้โดยไม่ขัดกับเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โรงงานมีระยะห่างจากศูนย์กำจัดขยะกมลาไสยในรัศมี 3 กิโลเมตร และจะได้มีการก่อสร้างโรงคัดแยกขยะมูลฝอย จำนวน 3 แห่ง คือศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยกมลาไสย ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยโนนบุรี และศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยกุฉินารายณ์ โดยจะไม่มีการนำขยะจากจังหวัดอื่นเข้ามา และจะมีการปรับปรุงและพัฒนาศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยทั้ง 3 แห่ง ให้มีระบบบำบัดอากาศ ระบบบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพ และติดตั้งระบบบำบัดของเสียงและมลพิษที่ได้มาตรฐาน เป็นไปตามหลักสุขาภิบาลและมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด และหลังจากกำจัดขยะทั้ง 3 แห่งในระยะ 2-3 ปี ขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่ ก็จะแปลงสภาพเป็นสวนสาธารณะชุมชน ที่มีทั้ง ลานปลูกหญ้า หญ้าธรรมชาติ ลู่วิ่งจักรยาน ลานกิจกรรม อาคาร RDF ที่จอดรถและถนน บ่อบำบัด ให้คนในชุมชนได้ใช้ประโยชน์ต่อไปด้วย

โรงงานผลิตไฟฟ้าจาก RDF ที่กำลังจะสร้างขึ้นนี้ มีกำลังการผลิตติดตั้ง 6 เมกะวัตต์ ตามระเบียบของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ถือเป็น VSPP หรือผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กมาก จะใช้ RDF เป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิตไฟฟ้า โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและควบคุมกระบวนการ เพื่อให้ได้กำลังไฟฟ้าที่เพียงพอและสะอาดในการใช้งาน โครงการนี้นอกจากจะเป็นการกำจัดมูลฝอยให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนโดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนแล้ว ยังเป็นการสร้างงานใหม่และโอกาสในการพัฒนาท้องถิ่นอีกด้วย