• ศุกร์. ต.ค. 4th, 2024

กาฬสินธุ์ ปภ.เตือน! อ.เมือง ยางตลาด ร่องคำ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน ด้านเขื่อนลำปาว 3 วันล่าสุดกราฟพุ่งสูงมีน้ำไหลเข้าเกิน 100 ล้าน ลบ.ม.

ปภ.แจ้ง 53 จังหวัด ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 14 – 18 ก.ย. 2567 ด้านสถานการณ์น้ำในเขื่อนลำปาว 3 วันล่าสุดพบมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำลำปาวแล้ว จำนวน 123.52 ล้าน ลบ.ม. ทำให้มีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ที่ 1,349.56 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 68.16% รับน้ำได้อีก 630.44 ล้าน ลบ.ม.

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้ง 53 จังหวัด ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 14 – 18 ก.ย. 2567 โดยให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน และสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลสาธารณภัยให้สามารถเข้าเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็วเมื่อเกิดสถานการณ์ภัยขึ้น รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนปฏิบัติตามประกาศแจ้งเตือนภัยอย่างเคร่งครัด

นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 5 (186/2567) ลงวันที่ 14 กันยายน 2567 เวลา 05.00 น. แจ้งว่า ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2 – 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่าง ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร โดยมีพื้นที่แจ้งเตือนสถานการณ์ระหว่างวันที่ 14 – 18 กันยายน 2567 ดังนี้ พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมขัง

ภาคเหนือ 15 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อ.เมืองฯ ปางมะผ้า ปาย สบเมย) เชียงใหม่ (อ.แม่อาย ฝางจอมทอง ฮอด) เชียงราย (อ.แม่สาย เชียงแสน แม่จัน แม่ฟ้าหลวง เทิง พญาเม็งราย เวียงแก่น) พะเยา (อ.ปง เชียงคำ จุน ภูกามยาว เชียงม่วน) แพร่ (อ.วังชิ้น สูงเม่น เด่นชัย ลอง) น่าน (อ.ทุ่งช้าง เฉลิมพระเกียรติ ปัว บ่อเกลือ ท่าวังผา เชียงกลาง แม่จริม ภูเพียง เวียงสา) อุตรดิตถ์ (อ.ท่าปลา น้ำปาด) ตาก (อ.ท่าสองยาง แม่สอด พบพระ อุ้มผาง) สุโขทัย (อ.เมืองฯ ศรีสัชนาลัย ศรีสำโรง กงไกรลาศ) กำแพงเพชร (อ.ปางศิลาทอง คลองลาน โกสัมพีนคร พรานกระต่าย) พิษณุโลก (อ.ชาติตระการ นครไทย วัดโบสถ์ วังทอง เนินมะปราง) พิจิตร (อ.โพธิ์ประทับช้าง) เพชรบูรณ์ (อ.เมืองฯ หนองไผ่ หล่มเก่า หล่มสัก) นครสวรรค์ (อ.แม่วงก์ แม่เปิน) และอุทัยธานี (อ.บ้านไร่)

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเลย (อ.นาแห้ว เชียงคาน ด่านซ้าย ปากชม) หนองคาย (อ.เมืองฯ สังคม ศรีเชียงใหม่ ท่าบ่อ โพนพิสัย โพธิ์ตาก) บึงกาฬ (อ.เมืองฯ ปากคาด บุ่งคล้า โซ่พิสัย เซกา บึงโขงหลง) หนองบัวลำภู (อ.สุวรรณคูหา) อุดรธานี (อ.นายูง น้ำโสม) สกลนคร (อ.เมืองฯ ภูพาน สว่างแดนดิน) นครพนม (อ.เมืองฯ ศรีสงคราม) ชัยภูมิ (อ.เมืองฯ คอนสาร หนองบัวแดง) ขอนแก่น (อ.เมืองฯ ภูผาม่าน ชุมแพ บ้านไผ่) มหาสารคาม (อ.เมืองฯ) กาฬสินธุ์ (อ.เมืองฯ ยางตลาด ร่องคำ) มุกดาหาร (อ.เมืองฯ หว้านใหญ่ ดอนตาล) ร้อยเอ็ด (อ.เมืองฯ เสลภูมิ) ยโสธร (อ.เมืองฯ ป่าติ้ว คำเขื่อนแก้ว) อำนาจเจริญ (อ.เมืองฯ ชานุมาน) นครราชสีมา (อ.ปากช่อง วังน้ำเขียว) บุรีรัมย์ (อ.เมืองฯ) สุรินทร์ (อ.เมืองฯ ปราสาท) ศรีสะเกษ (อ.เมืองฯ ยางชุมน้อย) และอุบลราชธานี (อ.เมืองฯ วารินชำราบ ตาลสุม น้ำยืน พิบูลมังสาหาร น้ำขุ่น)

ภาคกลาง 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี (อ.สังขละบุรี ทองผาภูมิ) นครนายก (อ.เมืองฯ ปากพลี) ปราจีนบุรี (อ.กบินทร์บุรี นาดี) สระแก้ว (อ.เมืองฯ) ฉะเชิงเทรา (อ.สนามชัยเขต ท่าตะเกียบ) ชลบุรี (อ.ศรีราชา บางละมุง) ระยอง (อ.เมืองฯ แกลง บ้านค่าย) จันทบุรี (อ.เมืองฯ เขาคิชฌกูฏ สอยดาว โป่งน้ำร้อน มะขาม ขลุง) และตราด (ทุกอำเภอ)

ภาคใต้ 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชุมพร (อ.พะโต๊ะ สวี) สุราษฎร์ธานี (อ.พนม บ้านตาขุน) นครศรีธรรมราช (อ.พิปูน ช้างกลาง ลานสกา) ระนอง (ทุกอำเภอ) พังงา (อ.เมืองฯ คุระบุรี ตะกั่วป่า กะปง ท้ายเหมือง) ภูเก็ต (ทุกอำเภอ) กระบี่ (อ.เมืองฯ เหนือคลอง อ่าวลึก คลองท่อม ปลายพระยา เกาะลันตา) ตรัง (อ.เมืองฯ ปะเหลียน นาโยง กันตัง สิเกา ห้วยยอด วังวิเศษ) และสตูล (อ.เมืองฯ ควนโดน ควนกาหลง ทุ่งหว้า มะนัง)

พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์คลื่นลมแรง

ภาคกลาง 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชลบุรี (อ.เมืองฯ ศรีราชา เกาะสีชัง บางละมุง สัตหีบ) ระยอง (อ.เมืองฯ บ้านฉาง แกลง) จันทบุรี (อ.นายายอาม ท่าใหม่ แหลมสิงห์ ขลุง) และตราด (อ.เมืองฯ แหลมงอบ คลองใหญ่ เกาะช้าง เกาะกูด)

ภาคใต้ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระนอง (อ.เมืองฯ สุขสำราญ กะเปอร์) พังงา (อ.เกาะยาว ตะกั่วทุ่ง ท้ายเหมือง ตะกั่วป่า คุระบุรี) ภูเก็ต (ทุกอำเภอ) กระบี่ (อ.เมืองฯ คลองท่อม เกาะลันตา เหนือคลอง อ่าวลึก) ตรัง (อ.กันตัง สิเกา ปะเหลียน หาดสำราญ) และสตูล (อ.เมืองฯ ละงู ท่าแพ ทุ่งหว้า)

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสานแจ้ง 53 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยให้เตรียมพร้อมรับมือกับปริมาณฝนที่ตกหนักซึ่งอาจทำให้เกิดอุทกภัยได้ โดยได้กำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน และสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตลอด 24 ชม. โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกหนักและพื้นที่ที่มีฝนตกติดต่อกันเป็นเวลานาน พื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังระบายไม่ทัน สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ โดยเฉพาะถ้ำน้ำตก ถ้ำลอด หากมีความเสี่ยงเกิดสถานการณ์ภัย ให้ประกาศแจ้งเตือนและปิดกั้นพื้นที่ไม่ให้บุคคลใดเจ้าพื้นที่โดยเด็ดขาด พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าวตลอด 24 ชั่วโมง

ในกรณีที่มีคลื่นลมแรง ให้แจ้งเตือนประชาชนบริเวณชายฝั่งทะเล และนักท่องเที่ยวห้ามลงเล่นน้ำโดยเด็ดขาด รวมถึงให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมเจ้าท่า กองทัพเรือ ตำรวจน้ำ แจ้งเตือนการเดินเรือ โดยให้ชาวเรือ ผู้บังคับเรือ ผู้ประกอบการเดินเรือโดยสาร เดินเรือด้วยความระมัดระวัง หากสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ให้พิจารณาห้ามเดินเรือออกจากฝั่งโดยเด็ดขาด นอกจากนี้ ขอให้เตรียมความพร้อมของเครื่องจักรกลสาธารณภัย รถปฏิบัติการ และเจ้าหน้าที่ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) ให้พร้อมเข้าเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดสถานการณ์ขึ้น นอกจากนี้ ให้จังหวัดประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนติดตามข้อมูลสภาวะอากาศและข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้าเพื่อให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์โดยปฏิบัติตามคำแนะนำจากทางราชการอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ หากประเมินสถานการณ์แล้ว คาดว่าสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงหรือขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น ให้จังหวัดเตรียมเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการ เครื่องจักรกลสาธารณภัย และวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมออกช่วยเหลือประชาชนได้ทันทีที่เกิดสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ให้จังหวัดแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า และแจ้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามข้อมูลสภาวะอากาศ สถานการณ์น้ำ และข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด ตลอดจนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น

สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ในระยะนี้ขอให้ติดตามสภาพอากาศ ประกาศการแจ้งเตือนภัย สถานการณ์น้ำในพื้นที่ และข่าวสารจากทางราชการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น โดยสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” และหากได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัยสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป

ด้านกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือนภัยเรื่อง ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทยและคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน ฉบับที่ 7 (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 15-17 กันยายน 2567)

โดยระบุว่า ในช่วงวันที่ 15-17 กันยายน 2567 ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย

ทั้งนี้เนื่องจากร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรง พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย

จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง มีดังนี้

วันที่ 15 กันยายน 2567

ภาคเหนือ: จังหวัดอุตรดิตถ์ ตาก พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี นครปฐม และราชบุรี รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้: จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

วันที่ 16-17 กันยายน 2567

ภาคเหนือ: จังหวัดน่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้: จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ยะลา ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 20 กันยายน 2567 จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาและสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตามสถานการณ์น้ำในเขื่อนลำปาว ประจำวันที่ 15 ก.ย. 2567 มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำลำปาว 1,349.56 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 68.16% สามารถรับน้ำได้อีก 630.44 ล้าน ลบ.ม. จากปริมาณน้ำเก็บกักได้ทั้งหมด 1,980 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ 51.28 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำทั้งหมด 7.33 ล้าน ลบ.ม.