• พฤหัส. เม.ย. 25th, 2024

ยิ่งใหญ่คุ้มค่าการรอคอย เทศกาลแข่งเรือยาวประเพณี ชิงถ้วยพระราชทาน จังหวัดกาฬสินธุ์ ประจำปี 2565

เริ่มแล้ว! เทศกาลแข่งเรือยาวประเพณี ชิงถ้วยพระราชทาน จังหวัดกาฬสินธุ์ ประจำปี 2565 เรือยาวใหญ่ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เรือยาวกลางทั่วไป ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เรือกลางยาวท้องถิ่น ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เรือเล็กทั่วไปชิงถ้วยเกียรติยศ นายกเทศมนตรี ตำบลกมลาไสย จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 22 – 25 กันยายน 2565 ณ สนามลำน้ำปาว อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ โดยมีนายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยนายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นางเฉลิมขวัญ หล่อตระกูล นายก อบจ.กาฬสินธุ์ นางสาววิจิตรา ภูโคก นายก ทต.กมลาไสย นายวัชรพงศ์ ชาวสามทอง นายกสมาคมส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดกาฬสินธุ์ นักการเมือง หัวหน้าส่วนราชการ ตำรวจ ผู้นำท้องถิ่น พร้อมด้วยประชาชน ร่วมพิธีเปิดงานอย่างพร้อมเพรียง

นางเฉลิมขวัญ หล่อตระกูล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวถึงความเป็นมาของการจัดเทศกาลแข่งเรือยาวประเพณี ชิงถ้วยพระราชทานในครั้งนี้ว่า “อำเภอกมลาไสย เป็นอำเภอที่ตั้งอยู่ริมฝั่งลำน้ำปาว วิถีชีวิตของชาวอำเภอกมลาไสย จึงผูกพันอยู่กับสายน้ำและมีประเพณีการแข่งขันเรือ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ส่วงเฮือ” มีมาช้านานเป็นเวลาเกือบร้อยปี เป็นประเพณีที่ชาวอำเภอกมลาไสย และพี่น้องชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งการแข่งขันเรือของชาวอำเภอกมลาไสย ได้รับการพัฒนาปรับเปลี่ยนมาตามกาลเวลา โดยเชิญเรือที่ชนะเลิศจากสนามต่างๆในภาคอีสานมา ร่วมแข่งขันและมีการแข่งขันเรือยาวใหญ่ขนาด 55 ฝีพาย มีเรือชิงแชมป์ถ้วยพระราชทานจากลุ่มน้ำต่างๆทั่วประเทศได้แก่เรือเทพธรรมรัตน์ ไทยน้ำทิพย์ อ.เมือง จ.ปทุมธานีเรือเจ้าแม่ประดู่ทอง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เรือเจ้าขุนเณรไทยคัวยิม จ. นครปฐม เรือเทพแสนชัยสาวภูไท อ.เมือง จ.มุกดาหาร เจ้าแม่ลำพูน จ.ศรีสะเกษ เรือเจ้าแม่คำไหล อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ เข้าร่วมการแข่งขันชิงถ้วยพระราชทานฯ และยังอนุรักษ์การแข่งขันเรือยาวกลางท้องถิ่น ขนาดไม่เกิน 40 ฝีพายชิงถ้วยพระราชทาน และเรือเล็กทั่วไป 10 ฝีพาย ของพี่น้องชาวเรือ จังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดใกล้เคียง เข้าร่วมการแข่งขัน ซึ่งเป็นการสืบสานประเพณีวัฒนธรรมของชาวกมลาไสยมาอย่างยาวนาน”

นางเฉลิมขวัญ หล่อตระกูล นายก อบจ.กาฬสินธุ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “การจัดแข่งขันเรือยาวประเพณีจังหวัดกาฬสินธุ์ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ สร้างความภูมิใจให้รักถิ่นกำเนิดตลอดจนอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่สืบทอดต่อไป เสริมสร้างและพัฒนาประเพณีการแข่งขันเรือยาวซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของอำเภอกมลาไสยและพี่น้องชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ให้พัฒนายิ่ง ๆ ขึ้นไป เสริมสร้างความสมัครสมานสามัคคีสร้างสัมพันธภาพอันดีงามของชุมชน และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดกาฬสินธุ์ ในการจัดงานครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดียิ่ง จากภาครัฐ ภาคเอกชน บริษัท ห้างร้านต่างๆตลอดจนข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน”

นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า “เป็นที่น่ายินดียิ่ง ที่ได้ทราบว่าพี่น้องชาวอำเภอกมลาไสย ได้จัดงานแข่งขันเรือยาวประเพณีจังหวัดกาฬสินธุ์ ติดต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน โดยถือเป็นงานประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงาม และถือเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นของจังหวัดกาฬสินธุ์ งานวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่นเป็นงานสร้างสรรค์ ที่แสดงออกมาถึงความเจริญทางปัญญา ความมั่นคงทางจิตใจ ความเป็นปึกแผ่นของชุมชนและสังคม การที่ท่านทั้งหลายได้ร่วมใจการจัดงานประเพณีขึ้นในครั้งนี้ ผมขอชื่นชมเพราะเป็นการเสริมสร้างศักยภาพของบุคคลชุมชนและสังคม เสริมสร้างความรักให้สามัคคี ความเข้าใจในพื้นฐานวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ชุมชนมีศักดิ์ศรี สามารถมีวิถีชีวิตบนพื้นฐานของความเป็นไทยได้อย่างกลมกลืนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น การอนุรักษ์และพัฒนามรดกวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่น นับว่าเป็นสิ่งที่ดีงามของชุมชนและสังคมควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อดำรงไว้ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาติสืบไป และสำหรับหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ห้างร้าน บริษัท พ่อค้า ประชาชน ที่ร่วมให้การสนับสนุนการจัดงาน ตลอดจนคณะกรรมการจัดงานทุกท่าน ทุกฝ่ายที่ได้เสียสละทำให้การจัดงานครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ผมใคร่ขอขอบคุณด้วยความจริงใจไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย”

กำหนดการแข่งขันเรือยาวประเพณี จังหวัดกาฬสินธุ์ ชิงถ้วยพระราชทานฯ ประจำปี 2565 ณ สนามแข่งขันเรือยาวประเพณีลำน้ำปาว อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ระหว่างวันที่ 22-25 กันยายน 2565

วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน 2565
เวลา 08.30 น. -แข่งขันเรือเล็กทั่วไป(ไม่เกิน 10 ฝีพาย) รายงานตัวเพื่อทำการแข่งขัน
เวลา 09.00 น. – เริ่มการแข่งขันเรือเล็กทั่วไป(ไม่เกิน 10 ฝีพาย) ตามสูจิบัตรการแข่งขัน

วันศุกร์ที่ 23 กันยายน 2565
เวลา 08.30 น.
– แขกผู้มีเกียรติและคณะกรรมการจัดการแข่งขันเรือยาวฯ พร้อมกัน ณ กองอำนวยการ
– เรือที่เข้าร่วมการแข่งขันประจำ ณ กองอำนวยการ
– ขบวนพาเหรดเชิญถ้วยพระราชทานเครื่องขบวนจากจุดเริ่มต้น ณ บริเวณ OTOP
– อำเภอกมลาไสย ไปตามเส้นทางร้อยเอ็ด- กาฬสินธุ์ จนถึงกองอำนวยการ

เวลา 09.00 น.
– ประธานในพิธีเปิดการแข่งขันเรือยาวประเพณีเดินทางมาถึงบริเวณกองอำนวยการ ประธานในพิธีนั่งประจำที่
– เจ้าหน้าที่เชิญถ้วยพระราชทาน ประดิษฐานที่ท่านหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์ ณ กองอำนวยการวงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี
– ประธานพิธีเปิดธูปเทียนแพ ถวายความเคารพพระบรมสาทิสลักษณ์และยืนประจำแท่นรับฟังการกล่าวรายงาน
– นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวรายงานต่อหน้าประธานในพิธี
– ประธานในพิธีมอบเงินสนับสนุนการจัดการแข่งขันเรือยาวประเพณีจังหวัดกาฬสินธุ์
– ประธานในพิธีเก่าเปิดงาน และลั่นฆ้องชัย ปล่อยแพป้ายลูกโป่ง และลูกโป่ง วงดุริยางค์บรรเลงเพลงมหาฤกษ์ เจ้าหน้าที่จุดพลุ และตะไล
– ประธานในพิธีและแขกผู้มีเกียรติชมการรำเรือส่วง ประกอบตีกลองพังฮาด
– ประธานในพิธีและแขกผู้มีเกียรติชมการแข่งขันเรือยาวกลางท้องถิ่น คู่เปิดสนามและเริ่มการแข่งขันเรือยาวกลางท้องถิ่น (ไม่เกิน 40 ฝีพาย) ตามสูจิบัตร

วันเสาร์ที่ 24 กันยายน 2565
เวลา 08.30 น.
– ผู้จัดการเรือยาวกลางทั่วไป ไม่เกิน 40 ฝีพายรายงานตัวรับสูติบัตรการแข่งขัน

เวลา 09.00 น.
– เริ่มการแข่งขันเรือยาวกลางทั่วไปไม่เกิน 40 ฝีพาย ตามสูจิบัตร

วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน 2565
เวลา 08.30 น.
– ผู้จัดการเรือยาวทั่วไป (ไม่เกิน 55 ฝีพาย) รายงานตัวรับสูจิบัตรการแข่งขัน
ผู้จัดการเรือยาวกลางท้องถิ่น และเรือยาวกลางทั่วไป ที่เข้าแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ รายงานตัวจับสลากร่อง

เวลา 09.00 น.
– แข่งขันเรือยาวกลางท้องถิ่น (ไม่เกิน 40 ฝีพาย)
– เรือยาวกลางทั่วไป (ไม่เกิน 40 ฝีพาย)
– แข่งขันเรือยาวใหญ่ทั่วไป (ไม่เกิน 55 ฝีพาย)
– แข่งขันเรือยาวกลางท้องถิ่น (ไม่เกิน 40 ฝีพาย) เรือยาวกลางทั่วไป (ไม่เกิน 40 ฝีพาย) เรือยาวใหญ่ทั่วไป (ไม่เกิน 55 ฝีพาย) รอบชิงชนะเลิศ ตามสูจิบัตร

เวลา 15.00 น.
– พิธีปิดการแข่งขัน
-เรือที่ได้รับรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศทุกประเภท พร้อมกันที่หน้ากองอำนวยการ
– พิธีกรเชิญผู้จัดการเรือที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ และรองชนะเลิศทุกประเภท ตั้งแถวที่หน้ากองอำนวยการ
– ประธานในพิธีประจำแท่นรับฟังการกล่าวรายงาน
– ประธานดำเนินการแข่งขันกล่าวรายงานสรุปผลการแข่งขัน และเชิญผู้จัดการเรือที่ชนะเลิศทำพิธีรับถ้วยพระราชทาน จากแท่นประดิษฐ์ฐาน หน้าพระบรมสาริสลักษณ์
– ประธานในพิธีและแขกผู้มีเกียรติ มอบถ้วยเกียรติยศ พร้อมเงินรางวัลให้แก่เรือประเภทต่างๆตามลำดับ
– ประธานในพิธีกล่าวปิดงาน เจ้าหน้าที่จุดพลุ ตะไล เสร็จพิธี

สนับสนุนโดย จังหวัดกาฬสินธุ์/ องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์/ เทศบาลตำบลกมลาไสย/ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในอำเภอกมลาไสย ห้างร้าน บริษัท พ่อค้า ประชาชน

ตระกูล ภูพวงเพชร /รายงาน
www.kalasinnews.com