• พุธ. ธ.ค. 11th, 2024

กสทช. พิจารณาอนุญาตให้ AIS เข้าซื้อหุ้น TTTBB (3BB) เพื่อเป็นบริษัทในกลุ่ม พร้อมยกระดับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตให้คนไทย เสริมความแข็งแกร่งเศรษฐกิจดิจิทัล

AIS ได้รับการแจ้งจาก กสทช. อย่างเป็นทางการในการพิจารณาอนุญาตให้ AWN  เข้าซื้อหุ้นของ บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3BB  (TTTBB) เข้ามาเป็นบริษัทในกลุ่มของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส เพื่อเสริมศักยภาพ และยกระดับการให้บริการอินเทอร์เน็ต ให้คนไทยสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึง

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส กล่าวว่า “จากการที่ AIS โดย AWN ได้ยื่นรายงานการขอรวมธุรกิจระหว่าง AWN และ 3BB ไปยัง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)  เพื่อขออนุมัติการเข้าซื้อหุ้นของ 3BB ในช่วงที่ผ่านมาล่าสุด เราได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการแล้วว่า กสทช. ได้พิจารณาอนุญาตให้ AWN เข้าซื้อหุ้นของ บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3BB  (TTTBB) มาเป็นบริษัทในกลุ่มของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส โดยการเข้าลงทุนของเอไอเอสในครั้งนี้ จะสร้างประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมเน็ตบ้านทั้งในปัจจุบันและในระยะยาว ช่วยทำให้คนไทยทุกพื้นที่ ทั้งในเขตเมืองและพื้นที่ต่างจังหวัด เข้าถึงบริการดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจากเทคโนโลยีไฟเบอร์ออปติก พร้อมนวัตกรรมล่าสุดจากการผนึกกำลังของทีม AIS, AIS Fibre และ 3BB ทำให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเทคโนโลยีที่ครอบคลุมการใช้งาน อีกทั้งยังช่วยลดปริมาณการลากสายไฟเบอร์ที่ทับซ้อนเกินความจำเป็น พร้อมยกระดับอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศในทุกรูปแบบธุรกิจอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

ทั้งนี้  ผู้สนใจใช้บริการเน็ตบ้านยังสามารถเลือกใช้บริการจาก AIS Fibre และ 3BB ได้ด้วยมาตรฐานบริการคุณภาพ พร้อมเพิ่มเติมด้วยประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้น  ทั้งความครอบคลุมของเครือข่าย, นวัตกรรมทันสมัยตอบโจทย์การใช้งานแต่ละกลุ่ม รวมถึงบริการดิจิทัล คอนเทนต์ และสิทธิพิเศษที่คุ้มค่าและหลากหลายมากขึ้นอันเกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่าง AIS Fibre และ 3BB”

ซึ่งนอกเหนือจากประโยชน์ของลูกค้าดังกล่าวแล้ว เรายังมองถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตบ้านที่ยังต้องอาศัยผู้เล่นที่มีความพร้อมในการพัฒนาโครงข่ายไฟเบอร์ในประเทศไทย เพื่อให้เกิดการขยายการลงทุนไปยังพื้นที่ใหม่ๆ ที่จะเปิดโอกาสให้คนไทยทุกกลุ่มได้รับบริการอินเทอร์เน็ตอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดและพื้นที่ห่างไกล ซึ่งจะเป็นการผลักดันให้ตลาดเกิดการแข่งขัน สร้างทางเลือกที่หลากหลายให้กับผู้บริโภค จากบริการอินเทอร์เน็ตที่รวดเร็ว ครอบคลุม