ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศไทยในอัตรา 36% เริ่มมีผลวันที่ 1 สิงหาคมนี้ ไทยเร่งยื่นข้อเสนอเจรจาแข่งกับเวลา ขณะที่เวียดนามเจรจาสำเร็จหลีกเลี่ยงภาษีเต็มเพดาน ส่วนประเทศอื่นในอาเซียนทยอยรับผลกระทบ หวั่นการส่งออกทั้งภูมิภาคชะงัก
เช้าวันที่ 8 กรกฎาคม 2025 โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศอย่างเป็นทางการผ่านจดหมายเปิดผนึกใน Truth Social ว่า สหรัฐฯ จะเริ่มเก็บภาษีนำเข้าสินค้าในอัตรา 36% จากประเทศไทย โดยให้เหตุผลเรื่องการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ และปรับความสมดุลทางการค้า พร้อมกำหนดให้มาตรการนี้มีผลทันทีในวันที่ 1 สิงหาคม 2025
สินค้าที่จะถูกจัดเก็บภาษีรวมถึงสินค้าเกษตร อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ และสิ่งทอ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไทยมีสัดส่วนส่งออกสูงและพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ อย่างมาก โดยในปีที่ผ่านมา การส่งออกไทยไปสหรัฐมีมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาท คิดเป็น 15% ของการส่งออกทั้งหมด
เวียดนามเดินเกมไว เจรจาสำเร็จเลี่ยงภาษีเต็มเพดาน
กรณีของ เวียดนาม กลายเป็นตัวอย่างของความสำเร็จเชิงยุทธศาสตร์ เมื่อรัฐบาลเวียดนามสามารถเจรจากับสหรัฐฯ ได้ข้อสรุปก่อนเส้นตาย โดยทรัมป์ประกาศให้เวียดนามได้รับอัตราภาษีพิเศษเพียง 20% สำหรับสินค้าหลัก และ 40% เฉพาะกรณีสินค้าที่ต้องสงสัยว่ามาจากจีนผ่านเวียดนาม (transshipment)
ข้อตกลงนี้ยังมีเงื่อนไขให้เวียดนามเปิดตลาดให้แก่สินค้าสหรัฐมากขึ้น รวมถึงการร่วมมือด้านความปลอดภัยในห่วงโซ่อุปทาน ทำให้เวียดนามหลุดพ้นจากมาตรการภาษีสูงสุดในระยะสั้น และกลายเป็นจุดหมายใหม่ของการลงทุนจากบริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติที่ต้องการเลี่ยงภาษี
ไม่ใช่แค่ไทย แต่โดนทั้งอาเซียน
นอกจากไทย ยังมีอีกหลายประเทศใน อาเซียน ที่ถูกจัดเก็บภาษีขั้นสูง โดยเฉพาะประเทศที่ยังไม่มีข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐ หรือถูกมองว่าเอื้ออำนวยให้มีการนำเข้าสินค้าจากจีนเข้าสหรัฐฯ อย่างผิดกฎ
กัมพูชา, ลาว และ เมียนมา ถูกเก็บภาษีสูงสุดถึง 40% โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าแฟชั่น สิ่งทอ และอาหารสำเร็จรูป ขณะที่ อินโดนีเซีย ได้รับอัตราเฉลี่ย 32% โดยยังไม่มีท่าทีว่าจะสามารถเจรจาหลุดจากรายการได้ในเร็ววัน ส่วน ฟิลิปปินส์ ถูกสหรัฐฯ ส่งสัญญาณเร่งรัดให้เสนอแผนภายในกลางเดือนกรกฎาคม มิเช่นนั้นจะถูกจัดเข้ากลุ่มเก็บภาษีสูงเช่นเดียวกับไทย
นักวิเคราะห์จากสถาบันเศรษฐกิจโลกชี้ว่า การขยายมาตรการภาษีของทรัมป์ในรอบนี้ไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นกลยุทธ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยมีเป้าหมายเพื่อย้ายฐานการผลิตกลับสหรัฐ พร้อมจำกัดอิทธิพลของจีนในห่วงโซ่อุปทานโลก
ไทยต้องเร็วกว่านี้ ก่อนถูกผลักเป็นประเทศความเสี่ยง
ดร.สมภพ สุขสุธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศให้ความเห็นว่า หากไทยไม่สามารถเจรจาภายในกรอบเวลาที่กำหนด ความเสียหายต่อภาคส่งออกจะรุนแรงและยาวนาน โดยเฉพาะในกลุ่ม SME ที่ไม่มีทางเลือกในการปรับโครงสร้างห่วงโซ่การผลิต
“การไม่มี FTA กับสหรัฐฯ เป็นจุดอ่อนเชิงโครงสร้างที่ไทยต้องเผชิญซ้ำซาก หากปล่อยให้เหตุการณ์นี้ผ่านไปโดยไม่มีการต่อรองหรือข้อตกลงเชิงรุก ไทยจะเสียเปรียบประเทศคู่แข่งในอาเซียนอย่างถาวร”
ข้อมูลจาก : https://themainstream.news/business/14396/