• พุธ. ธ.ค. 11th, 2024

ต้นแบบเครื่องตากข้าวประหยัดพลังงาน จาก ก.พ.ส. คว้ารางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 พร้อม Popular Vote สุดยอดผลงานนวัตกรรมสังคมพลังบวก

ขอแสดงความยินดีกับโรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ (ก.พ.ส.) นำโดย ดร.จารุวรรณ รัตนมาลี ผู้อำนวยการโรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ ได้มอบหมายให้กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี นำนักเรียนเข้าร่วมการประกวด “สุดยอดผลงานนวัตกรรมสังคมพลังบวก + เพื่อยกระดับโลกให้น่าอยู่ Ford+ Innovator Scholarship 2023” จัดโดย ฟอร์ด ประเทศไทย ร่วมกับ สมาคมพัฒนาประชากร (PDA) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ผลงาน “ต้นแบบเครื่องตากข้าวประหยัดพลังงาน” จากโรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ ได้รับรางวัล รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้รับโล่รางวัล พร้อมเงินรางวัล 100,000 บ. พร้อมเงินสนับสนุนการทำโครงงาน 40,000 บ. (รวมเป็นเงิน 140,000 บ.) และยังได้รับรางวัล Popular Vote ได้รับเงินรางวัล 35,000 บ.

ผู้ได้รับรางวัล ในครั้งนี้ประกอบด้วย นายธีรภัทร สุภัควนิช, นายวชิยากรณ์ ไสวอมร และ นายสรวิศ เจริญธรรม ซึ่งเป็นนักเรียนชั้น ม.5/14 โดยมี นายชุมพล ชารีแสน เป็นครูที่ปรึกษา

ฟอร์ด ประเทศไทย ร่วมกับสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน หรือ PDA สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA และบริษัท ทีวีบูรพา จำกัด จัดการแข่งขันชิงชนะเลิศโครงการ Ford+ Innovator Scholarship 2023 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 โดยปีนี้เป็นการประกวดผลงานนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ในหัวข้อ นวัตกรรมทางสังคมพลังบวกเพื่อยกระดับโลกให้น่าอยู่ (Social innovation+ for a better world challenge) มอบทุนการศึกษา 16 ทุน มูลค่ารวม 840,000 บาท โดยผลงานนวัตกรรม ‘ชุดกักเก็บคราบน้ำมันบนผิวน้ำผลิตจากน้ำยางพารา’ จากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศไปครอง ณ อาคาร เคเอ็กซ์ Knowledge Exchange for Innovation Center

โครงการ Ford+ Innovator Scholarship ในปีนี้เปิดกว้างให้นักเรียนและนักศึกษาจากชั้นมัธยมศึกษา อาชีวศึกษาและอุดมศึกษามีโอกาสเข้าร่วมส่งไอเดียสิ่งประดิษฐ์มาประชันกัน โดยมีทีมให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมถึง 230 ทีม และมีทีมที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกเข้าสู่รอบสุดท้าย 10 ทีม ประกอบด้วย ทีมนักเรียนมัธยมศึกษา 4 ทีม ทีมนักเรียนอาชีวศึกษา 3 ทีม และทีมนักศึกษามหาวิทยาลัย 3 ทีม ซึ่งทุกทีมที่ผ่านเข้ารอบ ได้รับการฝึกอบรมและคำแนะนำในการพัฒนาผลงาน เรียนรู้ทักษะการเป็นผู้ประกอบการและต่อยอดผลงาน พร้อมเสริมแกร่งทักษะการนำเสนอ โดยทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญจากฟอร์ด ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารนวัตกรรมผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์จากทีวีบูรพา ซึ่งผู้ชนะในปีนี้ ประกอบด้วย

รางวัลชนะเลิศระดับประเทศ ได้แก่ ผลงานนวัตกรรม ‘ชุดกักเก็บคราบน้ำมันบนผิวน้ำผลิตจากน้ำยางพารา’ จากทีมนักเรียนอาชีวศึกษา วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี โดยโครงการนี้เกิดขึ้นจากความตั้งใจที่จะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำมันรั่วในทะเล ซึ่งส่งผลเสียต่อระบบนิเวศทางทะเล ทีมนักศึกษาได้ออกแบบเครื่องกักเก็บคราบน้ำมันด้วยแผ่นวัสดุที่ผลิตจากน้ำยางพารา เพื่อซับและเก็บคราบน้ำมันบริเวณชายฝั่งทะเลหรือรอบเกาะต่างๆ และใช้พลังงานแสงอาทิตย์ช่วยประหยัดพลังงาน ช่วยกักเก็บคราบน้ำมันไม่ให้แพร่กระจายสู่ท้องทะเล

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ ผลงานนวัตกรรม ‘ต้นแบบเครื่องตากข้าวประหยัดพลังงาน’ จากทีมนักเรียนมัธยมศึกษา โรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ ที่ได้แนวคิดมาจากปัญหาการตากข้าวบนถนนในท้องถิ่น ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย จึงได้ออกแบบนวัตกรรมเครื่องการตากข้าวที่ใช้เซ็นเซอร์ตรวจวัดค่าความชื้นสัมพัทธ์ไอน้ำจากการระเหยออกจากเมล็ดข้าวผ่านทางท่อรูพรุน ร่วมกับเซ็นเซอร์ตรวจจับค่าความเข้มแสง และใช้พลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ ผลงานนวัตกรรม ‘เซลล์แสงอาทิตย์แบบโปร่งใส เพิ่มประสิทธิภาพในการแปลงพลังงานจากแสงอาทิตย์’ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นนวัตกรรมที่ตัวเซลล์แสงอาทิตย์มีลักษณะโปร่งใส สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้ทั้งบานหน้าต่างและตัวอาคาร เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า อีกทั้งยังให้ความสวยงามสามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 3 ได้แก่ ผลงานนวัตกรรม ‘ผลงาน AI ตรวจจับความเสียหายของส่วนประกอบรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไมโครโฟนความแม่นยำสูง’ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ประยุกต์เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ มาใช้แยกประเภทเสียงที่เกิดขึ้นและวิเคราะห์ตำแหน่งที่บกพร่องของเครื่องยนต์และส่งการแจ้งเตือนผ่านซอฟต์แวร์รถยนต์ เพื่อบอกถึงความเสี่ยงภัยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

รางวัล Ford+ Popular Vote ได้แก่ ผลงานนวัตกรรม ‘ต้นแบบเครื่องตากข้าวประหยัดพลังงาน’ จากสถาบัน โรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ จังหวัดกาฬสินธุ์

รางวัล Ford+ Best of Teamwork ได้แก่ ผลงานนวัตกรรม ‘หุ่นยนต์กายภาพบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง’ จากสถาบันโรงเรียนเทศบาล 5 เด่นห้า จังหวัดเชียงราย