• ศุกร์. มี.ค. 29th, 2024

อาจารย์ นิสิต ภาควิชาเทคโนโลยีการอาหารและโภชนศาสตร์ ผลิตอาหารฉุกเฉินพร้อมบริโภค MSU SPack (survival pack)  สำหรับผู้กักตัวโควิด

อาจารย์ นิสิต ภาควิชาเทคโนโลยีการอาหารและโภชนศาสตร์ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผลิตอาหารฉุกเฉินพร้อมบริโภค MSU SPack (survival pack)  สำหรับผู้กักตัวโควิด ไม่ต้องแช่เย็น เก็บได้นาน 2 ปี

วันนี้ (8 เมษายน 2565)  ณ อาคารปฏิบัติการแปรรูปอาหาร ภาควิชาเทคโนโลยีการอาหารและโภชนศาสตร์ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัศวิน อมรสิน ได้กล่าวถึงที่มาของการผลิต  MSU SPack (MSU survival pack) หรืออาหารฉุกเฉินพร้อมบริโภคสำหรับผู้อยู่รอด มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งได้พัฒนาขึ้นร่วมกับ นิสิตภาควิชาเทคโนโลยีการอาหารและโภชนศาสตร์ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นการนำผลงานวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ต่อสังคม โดยต่อยอดจากโครงการ ”กล่องข้าวน้อยให้แม่” ที่เคยสนับสนุนกิจกรรมช่วยเหลือน้ำท่วม จังหวัดอุบลราชธานี ในปี 2562 จากประสบการณ์ครั้งนั้น พบว่าการเตรียมความพร้อม ด้านความมั่นคงทางอาหาร ในสภาวะฉุกเฉินมีความจำเป็นมาก โดยมี 4 ด้านหลัก คือ 1.การมีอาหารเพียงพอสำหรับประทังชีวิต 2.การเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพได้อย่างเหมาะสม 3.อาหารสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งปริมาณและถูกสุขลักษณะ และ 4.การมีเสถียรภาพด้านอาหารที่ประชาชนหรือครัวเรือนหรือบุคคลต้องเข้าถึงอาหารอย่างเพียงพอตลอดเวลา ไม่มีความเสี่ยงในการเข้าถึงอาหารเมื่อเกิดความขาดแคลนขึ้นมาอย่างกะทันหัน

จุดเด่นของอาหาร Spack คือบรรจุภาชนะปิดสนิท มีน้ำหนักเบา ไม่เน่าเสียเมื่อเก็บที่อุณหภูมิปกติ และมีอายุการเก็บอย่างน้อย 2 ปี มั่นใจได้ถึงคุณภาพ  มีความหลากหลายของเมนู  รสชาติถูกปากคนไทย ล่าสุดสามารถรวบรวมชุดมื้ออาหาร สามารถจัดเป็น survival pack หรือ อาหารฉุกเฉินพร้อมบริโภคสำหรับผู้อยู่รอด ได้อย่างน้อย 3 วัน โดยไม่ต้องพึ่งพาอาหารจากแหล่งภายนอก (ยกเว้นน้ำดื่ม) เหมาะกับผู้ที่กักตัวโควิด ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งอาหารได้โดยง่าย หรือไม่มีไฟฟ้าหรือแก้สหุงต้ม

อาหารในชุด MSU Spack จะประกอบด้วย อาหารไทยนิยม ได้แก่ ข้าวสวย ข้าวเหนียว และเส้น(หมี่) และเมนูกับข้าวทำจากหมู เนื้อ ไก่ เป็ด เช่น ผัดกระเพรา พะแนง สตู แกง เนื้อแดดเดียว ไข่ต้ม ก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น สำหรับการผลิตนั้น ถือได้ว่ามีความปลอดภัย เพราะควบคุมโดยอาจารย์ที่มีความรู้ความชำนาญด้านนี้โดยเฉพาะ และ ยังได้ certificate of Thermal process authority (Thai FDA) ซึ่งสามารถออกแบบกระบวนการถนอมอาหารด้วยความร้อนเพื่อให้มีค่าอัตราการฆ่าเชื้อ เหมาะสมกับอาหารในบรรจุภัณฑ์ปิดสนิทแต่ละชนิดได้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัศวิน อมรสิน กล่าวเพิ่มเติมว่า  ผลงานของอาจารย์และนิสิต ภาควิชาเทคโนโลยีการอาหารและโภชนศาสตร์ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทย โดยอาศัยองค์ความรู้ที่ใช้ประโยชน์ได้จริง

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัศวิน อมรสิน โทรศัพท์ 083- 3530001

พิเชษฐ  ยากรี/มหาสารคาม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์การฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 23 มอบธารน้ำใจ สู้ภัยน้ำท่วม จ.ร้อยเอ็ด
อุทกภัยที่ท้ายลำน้ำพะยังที่ ต.นางาม อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด เหตุมวลน้ำจำนวนมากไหลมาสะสมรอระบายลงสู่แม่น้ำชี
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ว่าที่ร้อยตรีอานพ ศรีบุญลือ นายอำเภอโพนทอง จ.ร้อยเอ็ด ประชาชนพสกนิกรทุกหมู่เหล่า พร้อมใจกันร่วมบริจาคโลหิต ถวายเป็นพระราชกุศลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2566