• อังคาร. ก.ย. 10th, 2024

กาฬสินธุ์ไม่รอด พายุฤดูร้อนถล่มเสียหายหลายอำเภอ

กาฬสินธุ์พายุฤดูร้อนถล่มพื้นที่อำเภอสมเด็จ อำเภอนามน โดยเฉพาะบริเวณตลาดสมเด็จ มีลูกเห็บตก ลมกระโชกแรง หลังคาบ้านเรือนประชาชน โรงเก็บของ ประตูบ้าน โรงนา ป้ายโฆษณา ปลิวว่อนตามความแรงของลม ขณะที่เจ้าของคณะหมอลำ “ไก่ อุไรพร” พื้นที่โรงนา โรงเก็บเครื่องเสียง โรงเก็บชุดหาเครื่อง และคอกวัวหลังคาเปิด เสียหายกว่า 100,000 บาท ฝ่ายปกครอง อ.สมเด็จ เร่งตรวจสอบและช่วยเหลือผู้ประสบภัย

วันนี้ (15 เม.ย. 2566) เมื่อช่วงเวลา 14.30 น. ได้เกิดพายุฤดูร้อนพัดเข้าถล่มตลาดอำเภอสมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ มีบ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหายหลายพื้นที่ อาทิ ตำบลสมเด็จ ตำบลศรีสมเด็จ ตำบลผาเสวย ตำบลหนองแวง ตำบลหมูม่น ตำบลลำห้วยหลัว บ้านหนองหญ้าปล้อง หมู่ 14 บ้านหนองโพนสูง หมู่ 17 ตำบลยอดแกง อ.นามน จ.กาฬสินธุ์

โดยในระหว่างที่พายุฤดูร้อนได้พัดเข้าถล่ม เกิดมีฝนตกหนัก มีลูกเห็บตกลงมา และมีลมกระโชกแรงอยู่ตลอดเวลา ทำให้ป้ายโฆษณาซึ่งติดตั้งอยู่ตามเส้นทางสัญจร ปลิวหลุดไปตามลม หลังคาบ้านเรือนราษฎรที่มุงด้วยสังกะสีหลุดหายไปตามแรงลมที่กระโชกไปหลายหลังคาเรือน

หลังพายุฝนได้ซาลง ผู้สื่อข่าวได้ตะเวนตรวจสอบพื้นที่ในตลาดสมเด็จ พบว่ามีบ้านเรือนราษฎรหลายหลังได้รับความเสียหาย หลังคาถูกลมกระโชกพัดเปิดปลิวไปตามลม ตกลงมากองอยู่ถนนหน้าบ้าน

นายวิชัย จันทคัด อายุ 57 ปี เจ้าของคณะหมอลำชื่อดัง “ไก่ อุไรพร” อยู่บ้านเลขที่ 84 หมู่ 17 บ้านหนองโพนสูง ต.ยอดแกง อ.นามน จ.กาฬสินธุ์ พาผู้สื่อข่าวตรวจสอบความเสียหายที่เกิดจากลมกระโชกบริเวณโรงนา หลังคาโรงเก็บเครื่องเสียง และชุดหางเครื่องได้รับความเสียหาย และหลังคาคอกวัวได้รับความเสียหายเช่นกัน โรงเพาะเห็ดพังเสียหาย รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 100,000 บาท นอกจากนี้ นายวิชัย ยังได้ช่วยเก็บสายสื่อสารที่ขาดหลุดมากองอยู่กลางถนน เพราะเกรงว่าประชาชนที่ผ่านไปมาอาจเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้

ขณะที่ นายนิวัฒน์ สืบพิมพ์สุนท์ อายุ 50 ปี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหนองหญ้าปล้อง หมู่ 14 ได้เดินสำรวจความเสียหายตามบ้านเรือนประชาชน พบว่ามีประเรือนประชาชนนับ 10 ครัวเรือน ได้รับผลกระทบ หลังคาบ้านเปิด และประตูไม้หน้าบ้านขนาดใหญ่ถูกลมกระโชกพัดถล่มได้รับความเสียหาย

และข้อมูลล่าสุดพบว่าพายุฤดูร้อนได้เคลื่อนตัวไปทางภาคอีสานตอนล่าง ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาก็ได้ออกประกาศศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ฉบับที่ 3 (11/2566) เรื่องพายุฤดูร้อนบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เตือนประชาชนระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ไม่ควรสวมใส่โลหะ หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง

 

ตระกูล ภูพวงเพชร /รายงาน

0821078177, 0622342888