• อังคาร. ก.ย. 17th, 2024

จังหวัดกาฬสินธุ์ ประชุมแผนปฏิบัติการโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 4

จังหวัดกาฬสินธุ์ ประชุมแผนปฏิบัติการโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 4 พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ ตรวจสอบเพิ่มเติมคัดค้านรายชื่อผู้มีสิทธิร่วมโครงการฯ ที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน เริ่มพฤษภาคม 2566 นี้

วันที่ 25 เมษายน 2566 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดกาฬสินธุ์ นายธนภัทร ณ ระนอง ปลัดจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประธานการประชุมอนุกรรมการบริหารโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 4 ระดับจังหวัด เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ แผนดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดกาฬสินธุ์ ระยะที่ 4 ซึ่งที่ประชุมฯเห็นชอบตามที่ ฝ่ายเลขานุการ การยางแห่งประเทศไทยจังหวัดกาฬสินธุ์นำเสนอ พร้อมกำชับเรื่องข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และควบคุมดำเนินการโดยสุจริต ไม่มีปัญหาเรื่องการทุจริตในทุกขั้นตอน เพื่อให้เกษตรกรได้รับประโยชน์สูงสุดตามนโยบายของรัฐบาล

ดร.นิรุจน์ อุทธา หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 4 เกิดขึ้นตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ได้เห็นชอบงบประมาณเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยาง เนื่องจากราคาตกต่ำในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) และเพิ่มรายได้สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรชาวสวนยาง ที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 โดยเป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไป ที่เปิดกรีดแล้ว รายละไม่เกิน 25 ไร่ ราคายางที่ใช้ประกันรายได้ แยกเป็น ยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60.00 บาท/กก. น้ำยางสด (DRC 100%) 57.00 บาท และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23.00 บาท/กก. ประกันรายได้จำนวน 2 เดือน คือ ตุลาคม-พฤศจิกายน 2565 กรณีจ้างคนกรีด ให้แบ่งสัดส่วนรายได้ เจ้าของสวน ร้อยละ 60 และคนกรีด ร้อยละ 40 โดยการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการฯตามโครงการดังกล่าว เสนอเพื่อขอความเห็นชอบต่อคณะอนุกรรมการฯ สาระสำคัญ ดังนี้

1. เห็นชอบแผนจัดประชุมชี้แจงคณะทำงานระดับตำบล โดยมีเกษตรอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่ปลูกยาง 102 ตำบล ระหว่างวันที่ 2-18 พฤษภาคม 2566 ตามสถานที่ ๆเหมาะสม เพื่อแจ้งแผนปฏิบัติงานฯ ให้ผู้ใหญ่บ้านประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรรับทราบ
2. เห็นชอบขั้นตอนการทำงานตามห้วงเวลาดังนี้
2.1 ติดประกาศรายชื่อเกษตรกรชาวสวนยางผู้มีสิทธิร่วมโครงการฯ(คปร.1) ที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน เพื่อให้เกษตรกรตรวจสอบสิทธิ เพิ่มเติม คัดค้าน ภายใน 7 วัน
2.2 ตรวจสอบรับรองผู้มีสิทธิ(คปร.2)โดยคณะกรรมการระดับตำบล ภายใน 30 วัน
2.3 บันทึกข้อมูลลงในระบบเพื่อส่งไปยัง ธกส.ส่วนกลาง ภายใน 15 วัน
2.4 ประกาศรายชื่อผู้ได้รับเงินประกันรายได้(คปร.3) ที่หมู่บ้าน ภายใน 15 วัน พร้อมติดตามการโอนเงินของ ธกส. จากส่วนกลาง
รวมระยะเวลาดำเนินการ 67 วัน เริ่มจาก 2 พฤษภาคม 2566 คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือน มิถุนายน-กรกฎาคม 2566

ทั้งนี้มีคณะอนุกรรมการที่เป็นผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยาง ตำบลไคร้นุ่น อ.ห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ คือ นายบุญล้อม คำพันธ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางระดับจังหวัด จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ร่วมประชุม และให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อโครงการฯเป็นอย่างมาก ดร.นิรุจน์กล่าว

นอกจากนี้ นายธนภัทร ณ ระนอง ปลัดจังหวัดกาฬสินธุ์ ประธานการประชุมฯ ยังขอให้หน่วยงานทุกภาคส่วนช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรได้รับทราบโครงการฯ อย่างทั่วถึง ไม่ตกหล่น ไม่มีเรื่องร้องเรียน และช่วยควบคุมกำกับดูแลและแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว รัดกุม ให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และหลักเกณฑ์ที่กำหนด รวมทั้งป้องกันการทุจริตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดกาฬสินธุ์

#OKAY KALASIN #Smart Green City

ตระกูล ภูพวงเพชร /รายงาน
www.kalasinnews.com