• พฤหัส. ก.ย. 19th, 2024

กาฬสินธุ์จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น ทำความเข้าใจกับประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย โครงการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะแปรรูปหรืออาร์ดีเอฟ

(29 พ.ย. 2566) ที่หอประชุมโรงเรียนพิพัฒน์ราษฎร์บำรุง เทศบาลตำบลกมลาไสย อำเภอกมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ นางดวงเดือน จักรปล้อง พลังงานจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นและทำความเข้าใจกับประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย โครงการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะแปรรูปหรืออาร์ดีเอฟ ของบริษัท กาฬสินธุ์รุ่งเรือง ไบโอ เพาเวอร์ 2012 จำกัด โดยมีผู้แทนหน่วยงานราชการ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนท้องที่ ผู้แทนจากภาคเอกชน ผู้นำชุมชนทุกชุมชน สื่อมวลชนทุกแขนง และประชาชนในพื้นที่อำเภอกมลาไสยเข้าร่วมประชุม

นายเสกสรรค์ พรสวัสดิ์ ผู้ประสานงานโครงการฯ กล่าวว่า เทศบาลตำบลกมลาไสย ได้เล็งเห็นความสำคัญต้องมีการแก้ไขปัญหาร่วมกันในภาพรวมของจังหวัด จึงมีแผนจะดำเนินการ “โครงการก่อสร้างและบริหารจัดการระบบการจัดการขยะมูลฝอยเพื่อผลิต เชื้อเพลิงอาร์ดีเอฟ และผลิตกระแสไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงอาร์ดีเอฟ” ซึ่งมี ข้อตกลงกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ภายในจังหวัดกาฬสินธุ์ 80 แห่ง ในการรวมกลุ่มพื้นที่เพื่อจัดการขยะมูลฝอยแบบถูกสุขาภิบาล มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน พร้อมทั้งได้คัดเลือกและทำสัญญากับบริษัท กาฬสินธุ์รุ่งเรือง ไบโอ เพาเวอร์ 2012 จำกัด เป็นผู้ลงทุนก่อสร้างและ บริหารจัดการระบบกำจัดขยะมูลฝอย โดยบริษัทฯ เช่าที่ดินบริเวณสถานที่กำจัดขยะเดิมและลงทุนก่อสร้าง “ศูนย์คัดแยกมูลฝอยและผลิตเชื้อเพลิงอาร์ดีเอฟ” จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยกมลาไสย บ้านบึงไฮ ตำบลหลักเมือง ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยโนนบุรี บ้านนาคูณ ตำบลสหัสขันธ์ และ ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยกุฉินารายณ์ บ้านหนองหูลิง ตำบลบัวขาว

โดยศูนย์คัดแยกมูลฝอยฯ แต่ละแห่งจะรับขยะสดจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละโซนพื้นที่มาคัดแยกและผลิตเชื้อเพลิงอาร์ดีเอฟ อีกทั้งจะนำขยะมูลฝอยเก่าที่ตกค้างและสะสมที่บ่อขยะเดิมของแต่ละศูนย์ฯ มาคัดแยกและผลิตเชื้อเพลิงอาร์ดีเอฟร่วมด้วย โดยที่ศูนย์คัดแยกมูลฝอยฯ แต่ละแห่งมีความสามารถผลิตเชื้อเพลิงอาร์ดีเอฟได้สูงสุด 240 ตันต่อวัน หรือมีความสามารถผลิตเชื้อเพลิง อาร์ดีเอฟรวมสูงสุด 600 ตันต่อวัน

นอกจากนี้ บริษัทฯ จะเป็นผู้ลงทุนและก่อสร้าง “โครงการผลิตไฟฟ้า จากเชื้อเพลิงขยะแปรรูปหรืออาร์ดีเอฟ” ตั้งอยู่ที่ตำบลกมลาไสย อำเภอกมลาไสย โดยรับขยะแปรรูปหรืออาร์ดีเอฟจากศูนย์คัดแยกมูลฝอย ทั้ง 3 แห่ง มาเป็นเชื้อเพลิง ทั้งนี้ตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นและทำความเข้าใจกับประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย กำหนดให้มีการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อมาตรการป้องกัน แก้ไข และติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ เพื่อนำความคิดเห็นที่ได้ไปปรับปรุงและเป็นแนวทางการจัดทำรายงาน ฯ และมาตรการฯ ให้ มีความสอดคล้องกับข้อเสนอแนะและมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป