• อังคาร. ก.ย. 17th, 2024

รองอธิบดี พช. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการ “โคก หนอง นา โมเดล” จ.กาฬสินธุ์ แนะเกษตรกรแปรรูปผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า

รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมประเมินผลการดำเนินงาน โครงการ “โคก หนอง นา โมเดล” จ.กาฬสินธุ์ พบผลการดำเนินงานประสบความสำเร็จร้อยละ 80% คาดเป็นแรงบันดาลใจ ต้นแบบสร้างความยั่นยืนให้กับชุนชนในพื้นที่ แม้ว่าจะไม่มีงบประมาณโครงการโคกหนองนาในปีถัดไปอีกแล้ว

(17 พ.ค.) เวลา 09.30 น. นายนิวัติ น้อยผาง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วย นายวสันต์ ชิงชนะ ผู้ตรวจราชการ กรมการพัฒนาชุมชนเขต 12 และคณะเดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมติดตามความกว้าหน้าการพัฒนาพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” แปลง CLM ขนาดพื้นที่ 15 ไร่ ของ นายบุญชอบ ลีลานุช ตำบลยอดแกง อ.นามน จ.กาฬสินธุ์ โดยมี นางสาวอ้อมอารีย์ ยี่วาศรี นายอำเภอนามน นายอุทัย สิงห์ทอง พัฒนาการจังหวัดกาฬสินธุ์ นายวสันต์ ศรีนุกูล พัฒนาการอำเภอนามน พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการท้องถิ่น ร่วมให้การต้อนรับ

นายนิวัติ น้อยผาง รองอธิบดี พช. เปิดเผยว่า โคก หนอง นา โมเดล เป็นโครงการเรียนรู้ต้นแบบพัฒนาคุณภาพชีวิต ประยุกต์หลักทฤษฎีใหม่สู่โคกหนองนาโมเดล โดยใช้เวลาเรียนรู้ 5 ปี ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงที่ผ่านพ้นขบวนการงบประมาณ โดยหลักการแล้วถือว่าเป็นการลงทุนร่วมระหว่างเจ้าของแปลงที่ดินที่มีจิตอาสา ซึ่งมีความคาดหวังว่าจะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืน กับหน่วยงานราชการโดยกรมการพัฒนาชุมชน จากการประเมินแล้ว ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ มีความสำเร็จของโครงการไปแล้วประมาณ 80% ซึ่งตัวเลข 80% นี้ มีปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องของสภาพพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ไม่เอื้ออำนวยต่อการกักเก็บน้ำ และดินที่มีลักษณะเค็ม

อย่างไรก็ตาม กรมการพัฒนาชุมชน มุ่งหวังว่า โครงการ โคกหนองนาโมเดล ขนาด CLM และ HLM จะเป็นแหล่งเรียนรู้ประจำพื้นที่ เข้าถึงได้ง่าย มีผู้บริหารจัดการแปลงที่เป็นชาวบ้านตัวจริง จะสร้างแรงบันดาลใจ สู่ความเป็นต้นแบบความสำเร็จ ความยั่นยืนให้กับชุมชนในพื้นที่ ตามมิติที่ว่า ทำให้ดู อยู่ให้เห็น เป็นให้คิด ในรูปแบบของบันได 9 ขั้น สู่ความพอเพียง และความยั่งยืน ของการประยุกต์หลักของทฤษฎีใหม่โคกหนองนาโมเดล

ซึ่งในอนาคต แม้ว่าโครงการโคกหนองนา จะไม่ได้ไปต่อ ทางรัฐจะไม่มีงบประมาณมาสนับสนุนต่อ กรมการพัฒนาชุมชน ได้แยกโครงการออกเป็น 2 ส่วน คือ โครงการโคกหนองนา พช.ใช้งบประมาณจาก เงินกู้กับงบประมาณแบบปกติของกรมฯในรูปแบบของ “หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง” กับโครงการโคกหนองนาทำเอง ซึ่งท้ายที่สุดก็จะเป็นเครือข่ายร่วมกัน

ขณะที่ นายชอบ ลีลานุช เจ้าของ แปลง CLM ขนาดพื้นที่ 15 ไร่ เปิดเผยว่า โคกหนองนาแห่งนี้ กำลังขับเคลื่อนให้เป็นศูนย์เรียนรู้ เพื่อที่จะได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับพี่น้องประชาชนผู้ที่เข้ามาเรียนรู้ต่อ มีฐานเรียนรู้ทั้งหมด 9 ฐาน โดยแต่ละฐานจะมีการต่อยอดให้กับผู้ที่เข้ามาเรียนรู้ศึกษาดูงานได้นำความรู้ไปพัฒนาตนเอง โดยเฉพาะในเรื่องของการส่งเสริมอาชีพ ซึ่งมีหลากหลายอาชีพในศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ และที่สำคัญจะมีการต่อยอดโครงการโคกหนองนาแห่งนี้ ให้เป็นจุดในการขับเคลื่อน การพัฒนา การช่วยเหลือ และมีการเพิ่มศูนย์เรียนรู้แม่ของแผ่นดินเข้ามาด้วย เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับผู้ที่ผ่านการบำบัดยาเสพติดในอนาคต

ต่อมาช่วงบ่ายนายนิวัติ น้อยผาง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนพร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการ โคก หนอง นา โมเดล ณ วนเกษตรบ้านโฮม อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นแปลง HLM ขนาดพื้นที่ 3 ไร่ ของนายวัชรพงศ์ ชาวสามทอง หมู่ที่ 20 อ.ยางตลาด โดยมีนายสันติ จัตุพันธ์ นายอำเภอยางตลาด นายปัตพงศ์ อ่อนโพธา พัฒนาการอำเภอยางตลาด นายสุนทร พหลทัพ พัฒนาการอำเภอท่าคันโท พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอยางตลาดให้การต้อนรับ

นายปัตพงศ์ อ่อนโพธา พัฒนาการอำเภอยางตลาด กล่าวรายงานผลการดำเนินงาน โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ให้รองอธิบดีพร้อมคณะทราบว่า “อำเภอยางตลาดได้รับงบประมาณ ได้รับงบประมาณโครงการ โคก หนอง นา โมเดล แบ่งเป็นขนาดพื้นที่ 1 ไร่ จำนวน 117 แปลง เป็นเงิน 4,529,436.02 บาท, ขนาดพื้นที่ 3 ไร่ จำนวน 131 แปลง เป็นเงิน 11,826,054.02 บาท และขนาดพื้นที่ 15 ไร่ จำนวน 7 แปลง เป็นเงิน 3,301,585 บาท โดยผลที่ได้รับจากโครงการ ผู้เข้าร่วมโครงการฯ มีแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร มีการปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ยืนต้น สมุนไพรและเลี้ยงสัตว์ ปัจจุบันบางรายมีรายได้จากการจำหน่ายพืชผักสวนครัวและสัตว์ด้วย

ด้านนายวัชรพงศ์ ชาวสามทอง เจ้าของแปลง HLM ขนาดพื้นที่ 3 ไร่ กล่าวว่า “ตอนนี้โครงการโคกหนองนาโมเดลของเรามาถึงบันไดขั้นที่ 7 แล้วคือเก็บรักษาและแปรรูป ซึ่งต่อไปก็จะต่อเป็นการต่อยอดโดยการรวมกลุ่มเครือข่ายเพื่อแปรรูปหาตลาดจำหน่าย ซึ่งตนเองยินดีอาสาเป็นพื้นที่ตลาดเพื่อให้เครือข่ายโคกหนองนาได้นำสินค้าและผลิตภัณฑ์ของทุกคนมาจำหน่ายได้เพราะแปลงโคกหนองนาของตนเองต่อยอดให้เป็นโมเดลต้นแบบแล้ว”

หลังจากนั้นนายวัชรพงศ์ ชาวสามทอง ได้พารองอธิบดีพร้อมคณะ เยี่ยมชมฐานองค์ความรู้ที่อยู่ในพื้นที่ ฐานแรกเป็นฐานสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ไม่ต้องใช้น้ำมันหรือไฟฟ้า ฐานที่ 2 เป็นโรงเรือนอัจฉริยะ ที่มีระบบให้น้ำแบบอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีล่าสุด มีการวัดความชื้นในดิน หากความชื้นน้อยก็จะมีการพ่นละอองน้ำให้พืชอัตโนมัติทันที ฐานที่ 3 เป็นฐานปรุงดิน โดยใช้เศษใบไม้มาหมักปรุงให้เป็นดินที่สามารถนำไปปลูกพืชชนิดต่าง ๆ ได้ ส่วนฐานที่ 4 เป็นฐานเตาเผาถ่ายแบบไร้ควัน ที่มีระบบหล่อเย็นสามารถเก็บน้ำส้มควันไม้ได้อีกด้วย

ด้าน นายสุนัน มิทิลา เจ้าของแปลงโคกหนองนาเนื้อที่ 15 ไร่ หมู่ 4 ต.หนองตอกแป้น อ.ยางตลาด กล่าวว่า “ตนเองยินดีทำโครงการโคกหนองนานี้ต่อไปถึงแม้จะไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ เพราะเรียนรู้หลักการจนซึมซับแล้ว ตอนนี้ถือว่าตนเองกับคนในครอบครัว 3 ชีวิตสามารถได้อยู่ได้กินเพราะโคกหนองนา สามารถแก้ไขปัญหาการลดรายจ่ายในครัวเรือนได้จริง ถ้าคำนวณแล้ววันหนึ่งคนเราจะกินข้าวอยู่ 3 มื้อ ครอบครัวตนเองมีอยู่ 3 คน คิดเฉลี่ยเป็นเงินแล้วคาบละ 30 บาท ถ้าคิดรวม 3 คนแล้วปีหนึ่งตกเกือบ 1 แสนบาท แต่พอมีโคกหนองนาแล้วพื้นที่ส่วนหนึ่งตนเองแบ่งปลูกสมุนไพรส่งขายอภัยภูเบศร ส่งร่วมกับพี่น้องในชุมชนประมาณ 30 กว่าราย ถือเป็นผลผลิตที่มีค่าตอบแทนสูง ไม่ว่าจะเป็นมะระขี้นก ลูกยอที่บ้านเรามองข้าม แต่ปลูกง่ายไม่มีโรคสามารถเก็บขายได้ทั้งปี อีกทั้งกระดูกไก่ดำก็เป็นพืชไม่มีฤดูกาล เก็บได้ทุกวัน ดีกว่าการปลูกผักหวานอีกด้วย ตอนนี้โคกหนองนาของตนยังพยายามปลูกไม้ประดับเพิ่ม โดยรวมแล้วโครงการโคกหนองนาได้ผลสำเร็จได้อย่างนี้ ชีวิตนี้ถึงตายก็ไม่เสียดาย พออยู่พอกินไปได้ สุดยอดของโครงการคือโคกหนองนาโมเดล”

นายนิวัติ น้อยผาง รองอธิบดี พช. กล่าวเสริมว่า “พวกเราชาวนาขายข้าวให้โรงสีก็ขาดทุน จึงขอแนะนำว่าถ้าแต่ละครัวเรือนของเกษตรกรควรจะมีโรงสีขนาดเล็ก เวลาจะรับประทานถึงแปลรูป เขาเรียกว่าข้าวสีสด เพราะข้าวที่โรงสีเก็บไว้จะอยู่ในรูปแบบของข้าวสารที่ใส่สารกันมอด ซึ่งนั่นก็ทำให้ข้าวไม่ใช่ข้าวอินทรีย์แล้วเพราะเติมสารเคมีเข้าไป แต่ถ้าพวกเราตัดวงจรจากโรงสีใหญ่มาเป็นโรงสีในคุ้มหรือในครัวเรือนตัวเองแบบนี้ มันก็จะสามารถเพิ่มภาวะการพึ่งพาตัวเองและเป็นการแตกลายผลิตภัณฑ์ มีทั้งข้าวเปลือก ข้าวปลาย ข้าวหัก แกลบ รำแก่ รำอ่อน หรือข้าวคั่วก็ได้ เฉพาะข้าวคั่วอย่างเดียวก็สามารถสร้างรายได้ถึงไร่ละ 1 แสนบาท ซึ่งเป็นการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ไม่จำเป็นต้องไปขายข้าวเปลือกโดยตรง เอาสิ่งที่ตลาดมีความต้องการไปขาย แต่ที่สำคัญเราต้องคุมคุณภาพได้ด้วย เขาต้องเชื่อมั่นในยี่ห้อและผลิตภัณฑ์ของเรา จึงขอฝากให้เป็นข้อคิด”

ก่อนรองอธิบดี พช. พร้อมคณะ จะเดินทางกลับ นายนิวัติ น้อยผาง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ยังพาชิมเมนูใหม่ เพียงแค่เอามะนาว บีบใส่ในน้ำอ้อยหวาน ก็จะกลายเป็นเมนูใหม่ สร้างมูลค่าได้ทันที เป็นวิธีคิดง่ายๆ ให้เกษตรกรได้ลองแปรรูปสินค้าทางการเกษตรใหม่ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่า แล้วก็จะไม่มีหนี้ เป็นเศรษฐีต่อได้ในอนาคต

ตระกูล ภูพวงเพชร /รายงาน
www.kalasinnews.com