• เสาร์. ก.ค. 27th, 2024

กมธ.แก้จน วุฒิสภา ลงพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ น้อมนำศาสตร์พระราชา ใช้ฝายแกนดินซีเมนต์ แก้แล้งลดท่วม

วันนี้ (27 ม.ค. 2566) ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา (ศาลากลางหลังเก่า) จัดหวัดกาฬสินธุ์ จัดเวทีเสวนา เรื่อง “การบริหารจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กเพื่อท้องถิ่นพึ่งตนเอง” โดยมีนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการ คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ พร้อมคณะเข้าร่วมเสวนา โดยมีนายปราชญา อุ่นเพชรวรากร รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นางเฉลิมขวัญ หล่อตระกูล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ น.ส.ภัทรา วรามิตร สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยผู้บริหารสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเสวนาอย่างพร้อมเพรียง

นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดของประเทศไทย คือปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างรุนแรง ดังนั้นถ้าทุกคนร่วมมือกันอย่างจริงจังก็จะสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ โดยประโยชน์ของฝายแกนดินซีเมนต์ ช่วยเสริมสร้างความรักและความศรัทธาต่อภาครัฐ ช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ช่วยให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง เป็นเครื่องมือที่นำมาใช้แก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำได้เป็นอย่างดี ช่วยยืดระยะเวลาการเพาะปลูกสำหรับพื้นที่นอกเขตชลประทานให้ยาวนานขึ้น ช่วยลดปัญหาปากท้องอันเป็นสาเหตุของปัญหาต่าง ๆ ไปด้วย เพราะเมื่อมีความมั่นคงด้านน้ำ จะส่งผลให้ภาคเกษตรกรรม มีแผนการผลิตที่แน่นอน ไม่เปลี่ยนอาชีพ ไม่ทิ้งที่ทำกิน ซึ่งจะทำให้ประเทศชาติต้องสูญเสียโอกาสในแต่ละปีเป็นจำนวนเงินที่มหาศาล

ด้านนางเฉลิมขวัญ หล่อตระกูล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า จังหวัดกาฬสินธุ์เรา นอกจากแหล่งน้ำการกักเก็บน้ำที่เวลามีน้ำฝนมาไม่สามารถกักเก็บไว้ใช้ยามหน้าแล้งได้เพียงพอ เราจึงต้องมีการสร้างฝายแกนดินซีเมนต์เพื่อเป็นฐานรากที่มีความมั่นคง และสามารถ หน่วง ดัก กัก ชะลอน้ำ ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะเมื่อเข้าสู่ฤดูแล้ง แหล่งน้ำผิวดิน น้ำในลำห้วยและลำน้ำต่างก็ลดระดับลงเรื่อย ๆ หลายแห่งถึงกับแห้งขอด ทำให้ราษฎรในหลายพื้นที่เกิดความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เนื่องจากการขาดแคลนน้ำ ดังนั้นการสร้างฝายแกนดินซีเมนต์เป็นช่วง ๆ ไปตามลำห้วยและลำน้ำเหมือนขั้นบันได โดยไม่ให้ขาดช่วงหรือมีช่วงใดแห้งขอด จึงเป็นส่วนสำคัญในการเชื่อมโยงกับแหล่งน้ำดังกล่าวด้วย โดยเฉพาะเกษตรกรก็จะสามารถสร้างผลผลิตทางการเกษตรได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย

ตระกูล ภูพวงเพชร /รายงาน
www.kalasinnews.com