• พฤหัส. พ.ค. 9th, 2024

เขื่อนลำปาวเตรียมปรับปรุงประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำ แก้ไขปัญหาขาดแคลน-น้ำท่วมระยะยาว

โครงการส่งนํ้าและบำรุงรักษาลำปาวเป็นโครงการขนาดใหญ่ มีพื้นที่อ่างเก็บนํ้ารวม 356,600 ไร่ อยู่ในพื้นที่ 2 จังหวัด คือ จังหวัดกาฬสินธุ์ และจังหวัดอุดรธานี โดยมีพื้นที่ในจังหวัดกาฬสินธุ์ครอบคลุม 9 อำเภอ ได้แก่ อ.ท่าคันโท อ.ห้วยเม็ก อ.หนองกุงศรี อ.สามชัย อ.สมเด็จ อ.คำม่วง อ.สหัสขันธ์ อ.ยางตลาด และอ.เมือง ส่วนพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ครอบคลุม 3 อำเภอ ได้แก่ อ.ศรีธาตุ อ.กุมภวาปี และอ.วังสามหมอ มีพื้นที่ชลประทานรวมทั้งหมด 316,500 ไร่ อยู่ในเขตพื้นที่ 2 จังหวัด 5 อำเภอ คือ จังหวัดกาฬสินธุ์ และจังหวัดมหาสารคาม โดยมีพื้นที่ชลประทานในจังหวัดกาฬสินธุ์ครอบคลุม 4 อำเภอ ได้แก่ อ.ยางตลาด อ.กมลาไสย อ.เมือง และอ.ฆ้องชัย ส่วนจังหวัดมหาสารคามมีพื้นที่ชลประทาน 1 อำเภอ คือ อ.กันทรวิชัย

สภาพปัญหาโดยทั่วไปในพื้นที่คือ ประสบปัญหาการขาดแคลนนํ้าต้นฤดูทำนาปีและฤดูแล้ง ส่วนในกลางฤดูฝน ฝนตกชุก น้ำล้นตลิ่งและไหลเข้าท่วมที่ราบลุ่มริมลำน้ำทั้งริมฝั่งลำปาว และบริเวณลำปาวบรรจบกับแม่นํ้าชีเกิดนํ้าท่วมเสียหายเป็นประจำแทบทุกปี หากไม่ได้รับการแก้ไขจะทำให้เกิดความเสียหายต่อพื้นที่เกษตรกรรมอย่างต่อเนื่อง

โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวจึงได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2562 และมีมติเห็นชอบให้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวต้องมีการพิจารณาศึกษาแนวทางในการปรับปรุงโครงการให้มีประสิทธิภาพด้านการชลประทานเพิ่มขึ้น โดยต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับสภาพปัจจุบันและการใช้น้ำในอนาคต กรมชลประทานจึงได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาประกอบด้วย บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด ร่วมกับบริษัท เอส เค แมเนจเมนท์ แอนด์ แพลนนิง จำกัด และบริษัท จีโอเทค พิลลาร์ จำกัด ดำเนินงานโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ กำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จภายใน 540 วัน นับตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 จนถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง โครงการกำหนดให้มีการประชุมปฐมนิเทศโครงการในวันอังคารที่ 12 กรกฎาคม 2565 เวลา 09.00 – 12.00 น. ณ ห้องประชุมชาร์ลอง โรงแรมชาร์-ลอง บูทรีค อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของโครงการ รวมถึงรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโครงการ ตลอดจนสภาพปัญหา ข้อวิตกกังวลในพื้นที่ต่อการพัฒนาโครงการจากกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณมยุรา นามวงษ์ไชย ผู้ประสานงานโครงการ โทรศัพท์ 0 2943 9638 ต่อ 1626 โทรสาร 0 2943 9614 หรืออีเมล Mayura@pcmo.co.th