• ศุกร์. ต.ค. 11th, 2024

กาฬสินธุ์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการอบแห้งพืชสมุนไพรใบกระท่อม พร้อมเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ให้บริการทางวิชาการด้านเกษตรอัจฉริยะแก่เกษตรกรในอนาคต

จังหวัดกาฬสินธุ์ ถ่ายทอดเทคโนโลยีการอบแห้งพืชสมุนไพรใบกระท่อม ด้วยระบบควบคุมการไหลเวียนอากาศร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบรีโมทคอนโทรล เพื่อควบคุมคุณภาพผลผลิตและสารสำคัญในสมุนไพร พร้อมเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ให้บริการทางวิชาการด้านเกษตรอัจฉริยะแก่เกษตรกรในอนาคต

ณ วิสาหกิจชุมชนกรีนฟาร์มเมอร์กาฬสินธุ์ ต.โนนบุรี อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ อ.ดร.อภิญญา ภูมิสายดอน พร้อมด้วย นางพนอจิต นิติสุข และนายเกียรติพงษ์ เจริญจิตต์ อาจารย์สาขาวิชาเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ คณะผู้วิจัยเรื่อง การประยุกต์ใช้โรงเรือนปลูกพืชสำหรับอบแห้งใบกระท่อมด้วยระบบควบคุมการไหลเวียนอากาศร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ และต้นทุนของผลิตภัณฑ์ จัดกิจกรรมถ่ายทอดเทคโนโลยีจากโครงการวิจัยเรื่อง “การประยุกต์ใช้โรงเรือนปลูกพืชสำหรับอบแห้งใบกระท่อมด้วยระบบควบคุมการไหลเวียนอากาศร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ และต้นทุนของผลิตภัณฑ์” ซึ่งเป็นโครงการวิจัยที่ได้รับงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประเภท Fundamental Fund ประจำปีงบประมาณ 2566 เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้ประโยชน์ในการอบใบกระท่อม และสมุนไพรอื่นๆ อย่างมีคุณภาพ และประหยัดค่าจ่าย เนื่องจากใช้ระบบควบคุมการไหลเวียนอากาศร้อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ และควบคุมการทำงานด้วยเกษตรอัจฉริยะแบบมือถือรีโมทคอนโทรล

ดร.นิรุจน์ อุทธา หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์, สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ และเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนกรีนฟาร์มเมอร์กาฬสินธุ์ ได้วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสม ด้านการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ควบคุมการหมุนเวียนความร้อน อบแห้งใบกระท่อมและพืชสมุนไพร ด้วยการใช้รีโมทคอนโทรลแบบเกษตรอัจฉริยะ เพื่อควบคุมคุณภาพของใบกระท่อมและสมุนไพรอื่นๆ ทั้งลักษณะทางกายภาพที่ยังคงสีเขียวเมื่ออบแห้งแล้ว และรักษาสารสำคัญ เช่น Mitragynine ในใบกระท่อม หรือสารสำคัญในสมุนไพรอื่นๆ ซึ่งผลการวิจัยพบว่า การประยุกต์ใช้โรงเรือนปลูกผัก พัฒนาเป็นที่อบแห้งพืชสมุนไพร ใบกระท่อม ด้วยระบบควบคุมการไหลเวียนความร้อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์แบบรีโมทคอนโทรล ทำให้คุณภาพของใบกระท่อมมีคุณภาพ คงความสีเขียว และรักษาสารไมทราไจนีนได้ดีกว่า การอบแห้งด้วยวิธีอื่น และยังถนอมสาร Mitragynine ได้ดีกว่าวิธีอื่นๆ อีกทั้งยังประหยัดค่าใช้จ่าย ลดต้นทุนการผลิตอีกด้วย จึงเหมาะสำหรับส่งเสริมให้บริการแก่เกษตรกรผู้สนใจในพื้นที่ใกล้เคียง และวิจัยพัฒนาต่อยอดให้เป็นศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะที่เหมาะสมของจังหวัดกาฬสินธุ์ต่อไป โอกาสนี้ สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ จึงขอขอบคุณ อ.ดร.อภิญญา ภูมิสายดอน พร้อมคณะผู้วิจัย จากมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ไว้ ณ โอกาสนี้

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โรงอบแห้งสมุนไพรใบกระท่อมด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ที่ สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัด โทรศัพท์ 043 816759 ในวันเวลาราชการ

ตระกูล ภูพวงเพชร /รายงาน
www.kalasinnews.com