• อังคาร. มี.ค. 19th, 2024

วก.กาฬสินธุ์ ประชุมพิจารณาผลการคัดเลือกนักเรียนทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่นที่ 5 ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา ช่วยแก้ปัญหาวงจรยาเสพติด

วันจันทร์ที่ 20 มีนาคม 2566 เวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุมศรีแสนบุตร วิทยาลัยการอาชีพกาฬสินธุ์ ได้จัดการประชุมคณะกรรมการเบญจภาคี เพื่อสรุปผลการคัดเลือก นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ปีการศึกษา 2566 ประเภททุน 2 ปี และประเภททุน 5 ปี ทั้งนี้ได้รับความเมตตาจาก พระครูสุรัตนานุกูล เลขานุการเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประธานที่ประชุม โดยผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วย นางเพ็ญแข พิมพิไสย ผู้แทนผู้บริหาร พร้อมผู้แทนครู ผู้แทนศิษย์เก่า ผู้แทนศิษย์ปัจจุบัน ผู้แทนสถานประกอบการ นักจิตวิทยา ผู้แทนสื่อมวลชน คณะครูสาขาที่ได้รับทุน กรรมการเยี่ยมบ้าน ประธานชมรม กสศ. จิตอาสา วก.กาฬสินธุ์ ร่วมประชุมในครั้งนี้

ดร.ชัยพัฒนพงษ์ ภูสัตย์คำ กรรมการและเลขานุการ กองทุน กสศ. วิทยาลัยการอาชีพกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตามที่ กสศ. ได้เชิญชวนนักเรียน/นักศึกษาที่กำลังศึกษาระดับชั้น ม.3 ม.6 ปวช.3 หรือเทียบเท่า ที่มีศักยภาพแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสและสนใจเรียนต่อจนจบประกาศนียบัตรชั้นสูง (ปวส.) / อนุปริญญา / หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล/ผู้ช่วยทันตแพทย์ (1 ปี) สมัครทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง โดยเปิดรับสมัครที่วิทยาลัยการอาชีพกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นสถานศึกษาสายอาชีพที่เข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 5 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา และได้ทำการประกาศผลผู้ที่ผ่านการคัดสรร ให้ดำเนินการเข้ารับการพัฒนาศักยภาพและทดสอบ ในวันที่ 15 มีนาคม 2566 ไปแล้วนั้น วันนี้จึงได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการเบญจภาคี เพื่อสรุปผลการคัดเลือก นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ปีการศึกษา 2566 ประเภททุน 2 ปี และประเภททุน 5 ปี ซึ่งถือเป็นรุ่นที่ 5 ของการจัดทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของวิทยาลัยการอาชีพกาฬสินธุ์ (เดิม วิทยาลัยสารพัดช่างกาฬสินธุ์) โดยปีนี้พบมีนักเรียนสนใจสมัครเข้ารับทุนเป็นจำนวนมากกว่าทุกปี แบ่งเป็นประเภททุน 5 ปี สำหรับผู้จบ ม.3 เข้าศึกษาต่อในระดับ ปวช. และต่อเนื่อง ปวส. มีผู้มีสิทธิเข้าทดสอบจำนวน 43 ราย และประเภททุน 2 ปี สำหรับผู้จบ ม.3 , ปวช. เข้าศึกษาต่อในระดับ ปวส. มีผู้มีสิทธิเข้าทดสอบจำนวน 33 ราย

“ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” เป็นการสร้างคน สร้างโอกาส สร้างงาน ซึ่งบุคลากรจากสายอาชีพชั้นสูงถือเป็นกำลังคนที่มีศักยภาพที่จะช่วยพัฒนาและสร้างความมั่งคั่งให้กับภาคการผลิตและเศรษฐกิจ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเริ่มจัดตั้งโครงการ “ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศ เพื่อรองรับแผนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0

จุดนี้เองจึงนำมาสู่โครงการ “ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” มีลักษณะเป็นทุนให้เปล่าที่สร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชน จากครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุดร้อยละ 20 ล่างของประเทศ มีโอกาสศึกษาต่อสายอาชีพในสาขาซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน

ดร.ชัยพัฒนพงศ์ ภูสัตย์คำ เลขาฯ กองทุน กสศ.วิทยาลัยการอาชีพกาฬสินธุ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการซึ่งเป็นคณะทำงานทุกท่าน ได้ทำการใช้ความรู้ความสามารถคัดสรรนักเรียนที่สมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นอย่างดี ตามสภาพจริง อย่างเป็นธรรม โดยได้ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านนักเรียนที่สมัครเข้าขอรับทุนฯ ทุกคน ได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ สภาพความขาดแคลน มีการสัมภาษณ์นักเรียนทุกคนและมีการบันทึกการสัมภาษณ์ไว้เป็นข้อมูลอ้างอิง โดยนับได้ว่านักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกที่จะมีสิทธิเข้ารับทุนนั้น ถือเป็นนักเรียนที่เข้าเงื่อนไขของทุน กสศ. มากที่สุด ถือว่าการส่งเสริมและมอบโอกาสทางการศึกษาของทุน กสศ. ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ดึงนักเรียนให้ห่างไกลจากวงจรของยาเสพติดที่กำลังแพร่ระบาดในบ้านเราได้เป็นอย่างดีด้วย

ด้านนายตระกูล ภูพวงเพชร กล่าวในนามผู้แทนสื่อมวลชนว่า “กองทุน กสศ. ถือเป็นการให้โอกาสทางการศึกษาแก่เด็กนักเรียนที่เป็นอนาคตของชาติได้เป็นอย่างดี เพราะทุกคนต่างรู้ต่างเห็นกันอยู่ว่าการศึกษาของไทยยังเป็นปัจจัยหลักในการพัฒนาประเทศ หากการมอบโอกาสทางการศึกษาให้เด็กที่ขาดแคลนที่มีความประพฤติดี มีความตั้งใจอยากเรียน ก็ถือได้ว่าโอกาสที่เด็กนักเรียนที่ได้รับไป จะเป็นกำลังสำคัญร่วมพัฒนาประเทศในอนาคต และยังช่วยแก้ปัญหายาเสพติดไปอีกทางร่วมกับทางจังหวัดกาฬสินธุ์ที่มีการปราบปรามยาเสพติดด้วยยุทธการฟ้าแดดสงยางไปอีกทางด้วย จึงขอชื่นชมคณะทำงานทุกท่านที่เสียสละกำลังกาย เสียสละเวลา จนทำให้มีกองทุนนี้ในวิทยาลัยการอาชีพกาฬสินธุ์ มาเป็นรุ่นที่ 5 แล้ว และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเด็กที่ได้รับทุน จะตั้งใจศึกษาเล่าเรียน เพื่อใช้เงินทุนที่ได้รับให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองมากที่สุด

สำหรับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จัดตั้งขึ้นตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา โดยปรากฎในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 54

พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ.2561 ประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2561 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมทั้งเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู โดยให้รัฐเป็นผู้จัดสรรงบประมาณให้กองทุน และมีการบริหารงานที่เป็นอิสระ

ความเสมอภาค (Equity) แตกต่างกับความเท่าเทียม (Equality) เพราะเด็กแต่ละคนมีความจำเป็นและโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาไม่เท่ากัน โดยความยากจนทำให้เด็กไทยราว 5 แสนคน หลุดออกนอกระบบไปแล้ว และอีก 2 ล้านคนมีแนวโน้มขาดโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพ ปัญหานี้สำคัญเกิดจากครอบครัวของเด็กต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาสูงมากเมื่อเทียบกับรายได้ สูงกว่าครอบครัวร่ำรวยถึง 4 เท่า (ข้อมูลจากบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ 2551-2559)

จากปัญหานี้ ความเท่าเทียมในการจัดสรรทรัพยากรเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาจึงไม่อาจเพียงพอ เช่น นักเรียนที่มีฐานะแตกต่างกัน แต่ได้รับเงินอุดหนุนช่วยเหลือจำนวนเท่าๆ กัน โดยไม่คำนึงถึงความจำเป็นที่แตกต่างกัน ขณะที่การช่วยเหลือตามหลักความเสมอภาคเป็นการให้ตามข้อมูลความจำเป็นสาเหตุความเหลื่อมล้ำยังสืบเนื่องจากความแตกต่างของคุณภาพหรือมาตรฐานของสถานศึกษา คุณภาพหรือประสิทธิภาพของครู หรือฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม

สำหรับนักเรียนที่มีผลคะแนนผ่านการคัดเลือก สามารถตรวจสอบผลการคัดเลือกได้ทางเว็บไซต์ https://www.eef.or.th/ หรือ https://www.ksicec.ac.th หรือโทร.สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ดร.ชัยพัฒนพงศ์ ภูสัตย์คำ โทร. 0861337466

ตระกูล ภูพวงเพชร /รายงาน
www.kalasinnews.com