• ศุกร์. ต.ค. 11th, 2024

คณะวิศวกรรมศาสตร์ฯ ม.กาฬสินธุ์ ร่วมกับธนาคารออมสิน จัดโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น สร้างศักยภาพของกลุ่มองค์กรชุมชนและผู้ประกอบการให้มีทักษะการบริหารจัดการกลุ่ม

วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2565 ณ หอประชุมอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ (พื้นที่ในเมือง) มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ รศ.จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เป็นประธานปิดโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ประจำปี 2565 พร้อมด้วยผู้ช่วยผู้อำนวยการ ธนาคารออมสินภาค 11 ผู้อำนวยการธนาคารออมสินเขตกาฬสินธุ์ อาจารย์ และนักศึกษาเข้าร่วมพิธีอย่างพร้อมเพรียง

รองศาสตราจารย์จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กล่าวว่า กระผมคิดว่า เมื่อเสร็จสิ้นโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ประจำปี 2565 ในครั้งนี้แล้ว กลุ่มชุมชนจะเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและความสามารถทักษะการบริหารจัดการกลุ่ม เพื่อเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายของกลุ่ม มีทักษะการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถเข้าสู่ตลาดเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน นักศึกษามหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์สามารถนำความรู้และทักษะไปแก้ไขปัญหาให้กับกลุ่มองค์กรชุมชนอำเภอสหัสขันธ์ สมเด็จ และหนองกุงศรี สร้างเครือข่ายระหว่างองค์กรชุมชน มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ และธนาคารออมสิน เพื่อการพัฒนาที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไปในอนาคต

รศ.จิระพันธ์ ห้วยแสน กล่าวเพิ่มเติมว่า “กระผมขอขอบคุณธนาคารออมสิน คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และคณะกรรมการจัดงานทุกท่าน ที่ได้ให้ความร่วมมือร่วมใจในการจัดงานนำเสนอปิดโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ประจำปี 2565 ในครั้งนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหลังเข้าร่วมกิจกรรมแล้ว จะนำความรู้และทักษะจากการฝึกอบรมไปใช้ให้เกิดประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ”

ด้านอาจารย์สรายุทธ ฐิตะภาส คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม กล่าวว่า “ในนามของคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ คณะกรรมการดำเนินงาน ขอขอบพระคุณ ท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์เป็นอย่างสูง ที่ท่านได้ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดงานนำเสนอปิดโครงการ ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ในครั้งนี้ โดยวัตถุประสงค์ของการจัดโครงการในครั้งนี้ เพื่อสร้างศักยภาพของกลุ่มองค์กรชุมชนและผู้ประกอบการให้มีทักษะการบริหารจัดการกลุ่ม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถเข้าสู่ตลาดเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ทั้งยังเป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้นักศึกษามหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ นำความรู้และทักษะไปทำงานร่วมกับกลุ่มองค์กรชุมชนได้

อาจารย์สรายุทธ ฐิตะภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า “กลุ่มชุมชนที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ ประกอบด้วย กลุ่มชุมชน จำนวน 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มปลูกผักอินทรีย์แปลงใหญ่บ้านคุณนาย กลุ่มน้อยปลาแห้งแดดเดียวบ้านสะอาดนาทม กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์จากปลาบ้านทับปลา กลุ่มวิสาหกิจชุมชนคนเลี้ยวกวางจังหวัดกาฬสินธุ์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปปลาบ้านท่าเรือภูสิงห์ นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการครั้งนี้จำนวน 40 คน และอาจารย์จำนวน 26 คน ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากสถาบันการเงินชุมชน ธนาคารออมสิน คณะกรรมการดำเนินงาน และเจ้าหน้าที่ ทำให้การจัดงานครั้งนี้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการเป็นอย่างดี”

ตระกูล ภูพวงเพชร /รายงาน
www.kalasinnews.com