• ศุกร์. เม.ย. 19th, 2024

กลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิม “ผู้ไท” จัดมหกรรมผู้ไทนานาชาติ โชว์ศิลปะการแสดงพื้นถิ่นอายุกว่า 200 ปี

จังหวัดกาฬสินธุ์ จัดงานมหกรรมผู้ไทนานาชาติ อำเภอเขาวง “โฮมรากเหง้าเผ่าผู้ไท” สืบสาน เผยแพร่อัตลักษณ์ เอกลักษณ์ของชาวผู้ไทให้เป็นที่รู้จัก

ที่ สวนเฉลิมพระเกียรติ ใต้อ่างเก็บน้ำห้วยสายนาเวียง ตำบลคุ้มเก่า อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เปิดงานงานมหกรรมผู้ไทนานาชาติ อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งจัดขึ้นโดยเทศบาลกุดสิม โดยได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชน โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬกาฬสินธุ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ หัวหน้าส่วนราขการ ภาคเอกชน และประชาชนเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง

นางสาววิภาวี บุญเรือง นายกเทศมนตรีตำบลกุดสิม กล่าวว่า การจัดงานมหกรรมผู้ไทนานาชาติ โดยมีชื่องานว่า “โฮมรากเหง้าเผ่าผู้ไท” เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จังหวัดกาฬสินธุ์ มีนโยบายในการพัฒนา ยกระดับงานเทศกาล ประเพณีวัฒนธรรม ตามนโยบายของรัฐบาล จึงได้จัดงานมหกรรมผู้ไทนานาชาติ อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ประจำปี 2566 ขึ้นระหว่างวันที่ 4 – 6 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งเป็นการฟื้นฟูขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมให้เยาวชนรุ่นหลังได้ศึกษาสืบสาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีชีวิตชาวผู้ไทในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน อันจะนำมาซึ่งความร่วมมือแบบพหุภาคีในการสืบสาน รักษา และต่อยอดวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไท เป็นการเผยแพร่อัตลักษณ์ เอกลักษณ์ของชาวผู้ไทให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย อันเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน

นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ชาวผู้ไท เป็นกลุ่มชนที่มีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว โดยเฉพาะ ความรัก ความสามัคคี เคารพนับถือเชื่อฟังผู้นำชุมชน มีอัธยาศัย อ่อนน้อมถ่อมตนมีความมุ่งมั่นในการรักษาขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมประเพณีของตนไว้อย่างเหนียวแน่น อาทิ การแต่งกาย อาหาร ความเชื่อ ที่อยู่อาศัย ภาษา อาชีพ ศิลปะการแสดงพื้นถิ่น โดยกว่า 200 ปีมาแล้ว ที่ชาวผู้ไท จากแคว้นสิบสองจุไทย ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้อพยพเข้าสู่ดินแดน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และได้อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในดินแดนประเทศไทย ในสมัยกรุงธนบุรีกระจายอยู่ในหลายจังหวัด บริเวณรอบๆ เทือกเขาภูพาน ได้แก่ จังหวัดนครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ อุดรธานี มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบราชธานีและอำนาจเจริญ ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงความรัก ความสามัคคีที่เหนียวแน่น

สำหรับบรรยากาศภายในงานเป็นไปด้วยความครึกครื้น มีการแสดงวิถีวัฒนธรรมผู้ไท “รากเหง้าผู้ไท” จำนวน 11 ขบวน จากจังหวัดอุดรธานี สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ยโสธร และกาฬสินธุ์ ,การแสดงศิลปวัฒนธรรมผู้ไท “ทอระยับซับเพิ้งเมิงภูไท” , การแสดงบุญเลาะตูบวิถีผู้ไทโบราณ , การละเล่นพื้นเมือง “ตะเก่ากี้วิถีผู้ไท” , เดินแบบผ้าผู้ไท , การประกวด “สาวผู้ไทซับเพิ้ง” , รำวงย้อนยุค, การแสดงศิลปินชาวผู้ไทจากไทย-ลาว-เวียดนาม ,การเสวนา“รากเหง้าเผ่าผู้ไท” และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์พื้นเมืองของชาวผู้ไท ผลิตผลทางการเกษตรและสินค้า OTOP

ตระกูล ภูพวงเพชร /รายงาน
www.kalasinnews.com