• อังคาร. ก.ย. 10th, 2024

กาฬสินธุ์ เสนอภาพฝันเป็น “เมืองไดโนเสาร์โลก หรือ Jurassic world” ในอีก 20 ปีข้างหน้า

สภาเกษตรกรฯ เสนอภาพฝันให้กาฬสินธุ์เป็น “เมืองไดโนเสาร์โลก หรือ Jurassic world” ในอีก 20 ปีข้างหน้า ปลุกพลัง Soft Power ตำนานสัตว์โลกล้านปี มาพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในโลกยุคใหม่ก้าวไกลสู่สากล

วันที่ 28 มีนาคม 2566 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมศาลาร่มโพธิ์นุกูลทองทวี โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ ดร.นิรุจน์ อุทธา หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมประชุมคณะอนุกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (อ.ก.บ.จ.) จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อการจัดทำเป้าหมายการพัฒนาจังหวัด 20 ปี โดยมีนายปราชญา อุ่นเพชรวรากร รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดงาน บรรยายแนวทางการจัดทำเป้าหมายการพัฒนาจังหวัด 20 ปี โดย รศ.สุพรรณ สุดสนธิ์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ นำเสนอศักยภาพของพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ สหัสขันธ์ เมือง ท่าคันโท หนองกุงศรี และห้วยเม็ก และเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อทิศทางการพัฒนาจังหวัดกาฬสินธุ์ ในอีก 20 ปีข้างหน้าของคณะ อ.ก.บ.จ. ประกอบด้วย หน่วยงานราชการ องค์กรท้องถิ่น สถานศึกษา เอกชน และภาคประชาสังคม ซึ่งสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ เสนอให้กาฬสินธุ์เป็นเมือง “ไดโนเสาร์โลก หรือ จูราสสิคเวิร์ล” ในอีก 20 ปีข้างหน้า เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตำนานเมืองไดโนเสาร์โลก ยกระดับการท่องเที่ยวสู่สากล

ดร.นิรุจน์ อุทธา หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า ภาพฝันของจังหวัดกาฬสินธุ์ในอีก 20 ปีข้างหน้า หรือปี 2585 ควรจะเป็นการผสมผสานระหว่างความทันสมัยในโลกยุคใหม่ บูรณาการกับรากเหง้าทางวัฒนธรรมที่ดีงาม หมายถึงเป็นเมืองที่มีรากเหง้าทางวัฒนธรรมแต่ทันสมัย ด้วยการวิเคราะห์อย่างชาญฉลาดว่า กาฬสินธุ์มีต้นทุนทางทรัพยากรอะไรที่มีความแตกต่างจากจังหวัดอื่น หมายความว่า กาฬสินธุ์มีอะไรเหมือนกับจังหวัดอื่น แต่จังหวัดอื่นไม่สามารถมีอะไรได้เหมือนกาฬสินธุ์ นี่คือความแตกต่างที่ทรงพลัง เป็น Soft Power ที่ทรงพลังของจังหวัด ที่สามารถนำไปเป็นเป้าหมายของจังหวัดกาฬสินธุ์ ในอีก 20 ปีข้างหน้าอย่างก้าวกระโดด สู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของการพัฒนาจังหวัด เช่น เราจะเปลี่ยนจากจุดเดิมที่คนไทยรู้จักกาฬสินธุ์ว่าเป็น “เมืองน้ำดำ” และยกระดับให้คนต่างชาติรู้จักกาฬสินธุ์ว่าเป็น “เมืองจูราสสิคเวิร์ล” เป็นต้น อย่างนี้เรียกว่ายกระดับการพัฒนาสู่สากล ดังนี้ ไดโนเสาร์ จึงกลายเป็น Signature ที่ทรงพลังของจังหวัดกาฬสินธุ์ สามารถนำมาทำเป็น Brand ของจังหวัด และนำแบรนด์มาสร้างเป็น Land-Mark เพื่อรองรับการท่องเที่ยวระดับสากลได้ อีกทั้งยังสอดคล้องกับ Soft Power 5 F เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติของรัฐบาลอีกด้วย ซึ่งประกอบด้วย 1. อาหาร (Food) 2.ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ (Film) 3.การออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion) 4.ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fighting) 5.เทศกาลประเพณีไทย (Festival) ยกตัวอย่าง ต้มยำกุ้ง กาฬสินธุ์ก็มีกุ้งก้ามกรามรสเลิศ เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว จูราสสิคเวิร์ลก็เป็นภาพยนตร์ทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับไดโนเสาร์ ผ้าไหมแพรวาก็เป็นแฟชั่น GI มูลค่าสูง มวยไทยกาฬสินธุ์ก็มีชื่อเสียง เทศกาลประเพณีไทยก็มีหลายอย่างก้าวสู่สากล เช่น งานผู้ไทโลก บั้งไฟตะไลล้านโลก ปลาร้าโลก และหรือที่จะเกิดขึ้นอื่นๆ อีกมากมาย เช่น เทศกาลไดโนเสาร์โลก วิ่งไดโนเสาร์มาราธอนนานาชาติ สงกรานต์คลื่นมนุษย์ทำลายสถิติโลก รวมถึงการสร้างสิ่งประดิษฐ์ Sky Walk สถาปัตยกรรม หอไดโนเสาร์ ผลิตภัณฑ์สินค้าแบรนด์ไดโนเสาร์ ระบบการคมนาคมที่เกี่ยวข้องกับเส้นทางตำนานไดโนเสาร์ ต้อนรับประชาคมเศรษฐกิจอินโดจีน เป็นต้น ดร.นิรุจน์กล่าว ซึ่งสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ จะได้เรียบเรียงเป็นเอกสาร เป็นข้อเสนอต่อ อ.ก.บ.จ. อย่างเป็นทางการต่อไป