• ศุกร์. มี.ค. 29th, 2024

กาฬสินธุ์มุ่งพัฒนาเป็น HUB ผลิตมะม่วงคุณภาพมาตรฐาน GAP มุ่งสู่ตลาดต่างประเทศ ด้วยลักษณะเด่น หอม หวาน และผิวสวย ด้วยกลไกตลาดนำผลิต ควบคู่การขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ปี 2566

วันที่ 20 เมษายน 2566 เวลา 09.00 น. นายธวัชชัย รอดงาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรมเชื่อมโยงตลาดสินค้ามะม่วง สร้างการรับรู้แนวทางการส่งออกให้เกษตรกร เพื่อเพิ่มมูลค่ารองรับการแก้ไขปัญหาการส่งออกมะม่วงสดไปต่างประเทศ ปี 2566 ณ ห้องประชุมโสมพะมิตร ศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ ชั้น 4 จัดโดย สำนักงานพาณิชย์จังหวัดกาฬสินธุ์ กิจกรรมสำคัญประกอบด้วย พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงรับซื้อผลผลิตมะม่วง โดยความร่วมมือระหว่าง บริษัท อินสยามกรุ๊ป จำกัด กับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงเชิงพาณิชย์จังหวัดกาฬสินธุ์จาก อ.หนองกุงศรี, ยางตลาด, เมือง, ท่าคันโท, สมเด็จ, ห้วยเม็ก และสามชัย การบรรยายเรื่อง อุปสรรคและการแก้ไขปัญหาการส่งออกมะม่วงไปต่างประเทศ โดยวิทยากรของบริษัท อินสยามกรุ๊ป จำกัด และการอภิปรายซักถาม มีผู้แทนหน่วยงานร่วมประชุม ได้แก่ นายวีระพงษ์ สืบค้า พาณิชย์จังหวัดกาฬสินธุ์, ดร.นิรุจน์ อุทธา หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ นางละม่อม สุนทรชัย ผู้แทนสำนักงานเกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์ นางสาวอัมพรพรรณ อภิรักษากร ผู้แทนสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดกาฬสินธุ์ นายชัชชัย กลีบมะลิ ผู้แทนสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยผู้แทนจาก เครือข่ายภาคเอกชน หอการค้า สภาอุตสาหกรรม กลุ่มเกษตรอินทรีย์ และผู้แทนสำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ เป็นต้น โดยบริษัทฯ มีเป้าหมายรับซื้อมะม่วงสดจากเกษตรกรส่งประเทศเกาหลี ฤดูกาลละ 1,000 ไร่ๆละ 1 ตัน ได้มาตรฐาน GAP มีลักษณะเด่นคือ หอม หวาน และผิวสวย ในราคากิโลกรัมละ 35 บาท หรือขึ้นลงตามกลไกตลาด

ดร.นิรุจน์ อุทธา หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ เปิดเผยเกี่ยวกับพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงรับซื้อผลผลิตมะม่วง โดยความร่วมมือระหว่าง บริษัท อินสยามกรุ๊ป จำกัด กับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงเชิงพาณิชย์จังหวัดกาฬสินธุ์ จัดโดย สำนักงานพาณิชย์จังหวัดกาฬสินธุ์ วันนี้ว่า การส่งเสริมพัฒนากลไกการตลาดส่งออกมะม่วงครั้งนี้ มีความสำคัญต่อการประกอบอาชีพปลูกมะม่วงของเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นอย่างมาก เนื่องจากกาฬสินธุ์เป็นพื้นที่ปลูกมะม่วงมากเป็นอันดับต้นของประเทศ และประสบปัญหาเรื่องการตลาดต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี 2562-2565 เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถส่งออกมะม่วงไปต่างประเทศได้ ส่งผลให้เกษตรกรกลุ่มผู้ปลูกมะม่วงประสบปัญหาการขาดทุน และมีหนี้สิน ดังนั้นในปี 2566 เป็นต้นไป จังหวัดกาฬสินธุ์จึงส่งเสริมพัฒนากลไกตลาดต่างประเทศอย่างจริงจัง เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะมีบริษัทฯมารับซื้อถึงสวนของเกษตรกร และมีการควบคุมคุณภาพในรูปแบบของเกษตรพันธะสัญญา เช่น แปลงปลูกต้องได้รับการรับรอง GAP ราคาตามขนาดหรือไซส์ เช่น ไซส์ใหญ่ลูกละ 3-6 ขีด หรือไซส์เล็ก 2.3-2.9 ขีดต่อลูก จะมีราคาแตกต่างกัน เป็นต้น แต่มีลักษณะดีคือ หอม หวาน ผิวสวย เหมือนกัน และหรือราคาอาจจะขึ้นลงตามสถานการณ์ของตลาด เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีตลาดรองรับอย่างชัดเจน เนื่องจากมะม่วงมีฤดูการผลิตที่ออกผลผลิตพร้อมกัน หากไม่สามารถควบคุมคุณภาพและไม่มีตลาดที่ชัดเจนจะอยู่ไม่ได้ ปัจจุบันตลาดเกาหลีเป็นที่นิยมมะม่วงไทยอย่างมาก รวมถึงตลาดในอนาคต ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ หรือประเทศแถบยุโรป ต่างก็นิยมบริโภคมะม่วงไทยเช่นกัน ปัญหาตลาดต่างประเทศที่ผ่านมาคือ บริษัทรับซื้อในต่างประเทศตรวจพบสารเคมีต้องห้าม มีคราบยางที่ผิวมะม่วง ล่าสุดพบหนอนเจาะผลไม้ในมะม่วง ทำให้ต้องส่งกลับทั้งล็อต ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งบริษัทส่งออก และเกษตรกร บางครั้งอาจรุนแรงถึงระงับการส่งออกอีกด้วย ดังนั้น นับแต่ปี 2566 เป็นต้นไป เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงจังหวัดกาฬสินธุ์ที่ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือครั้งนี้ จึงมีความตั้งใจยกระดับการปลูกมะม่วงในพื้นที่ให้มีคุณภาพ เป็นเกษตรยุคใหม่ เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ ในระดับมาตรฐาน GAP มีลักษณะเด่นที่สำคัญคือ หอม หวาน และผิวสวย ไม่มีสารเคมีหรือสิ่งต้องห้ามปนเปื้อน อีกทั้งในปี 2566 จังหวัดกาฬสินธุ์ กำลังขับเคลื่อนการขอขึ้นทะเบียน มะม่วงมหาชนกกาฬสินธุ์ เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ สินค้า GI เพื่อเพิ่มมูลค่าไปพร้อมกัน หากการดำเนินงานดังกล่าวประสบผลสำเร็จ กาฬสินธุ์ก็จะกลายเป็นแหล่งผลิตมะม่วงคุณภาพของประเทศไทย หรือ HUB สร้างความมั่นใจ และเป็นที่นิยมของผู้บริโภคจากต่างประเทศได้ในที่สุด จึงขอฝากให้ บริษัทฯ มีความจริงใจช่วยเหลือเกษตรกรอย่างจริงจัง และเกษตรกรต้องพัฒนาการผลิต ยกระดับคุณภาพการผลิตอย่างจริงจัง ไปพร้อมกัน ดร.นิรุจน์กล่าว

สำหรับเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นฯ มีผู้นำเกษตรกรได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า จังหวัดกาฬสินธุ์ ควรมีนโยบายพัฒนาการตลาดต่างประเทศมะม่วงอย่างจริงจัง เพื่อแก้ปัญหาการส่งออก เช่น การสร้างโรงอบไอน้ำมะม่วงที่ได้มาตรฐาน GMP ซึ่งครั้งหนึ่ง เมื่อปี 2562 สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมกับ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 5 และเครือข่ายเกษตรกรกาฬสินธุ์ เคยเสนอผ่าน มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ แต่ยังไม่สำเร็จ รวมถึงการยกระดับการแปรรูปมะม่วงอย่างจริงจังในอนาคตอีกด้วย

#กาฬสินธุ์มุ่งพัฒนาเป็น HUB มะม่วงคุณภาพ GAP เพื่อการส่งออกต่างประเทศ #GI มะม่วงมหาชนก #ตลาดนำผลิต #OKAY KALASIN #Smart Green City

ตระกูล ภูพวงเพชร /รายงาน
www.kalasinnews.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กาฬสินธุ์ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ตรวจปั๊มน้ำมันก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ คุ้มครองผู้บริโภค ให้ได้จำนวนปริมาณน้ำมันเต็มลิตร
กาฬสินธุ์ เขื่อนลำปาวระบายน้ำวันละกว่า 10 ล้าน ลบ.ม. ดูแลพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งกว่า 3 แสนไร่ ทำชาวนายิ้มขายข้าวนาปรังเกี่ยวสด 9,000 บาทต่อตัน
AIS ACADEMY ผนึก กระทรวง พม. ชวน นิสิต-นักศึกษา สร้างนวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุและคนพิการ ในโครงการ “JUMP THAILAND HACKATHON 2024” ชิงรางวัลรวมมูลค่ากว่า 200,000 บาท