• อาทิตย์. พ.ค. 5th, 2024

กาฬสินธุ์จัดประชุมหารือบรรจุแผนการสร้างภาพยนตร์ JURASSIC NEW WORLD เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนอุทยานธรณี Kalasin Geopark

สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ โดย ดร.นิรุจน์ อุทธา หัวหน้าสำนักงานฯ นายสมศักดิ์ ผาลาโห หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ นายวิโรจน์ มากพยับ หัวหน้าส่วนยุทธศาสตร์การเกษตร พร้อมด้วย นายบุญมี แก่นนาคำ นายกเทศมนตรีตำบลโนนบุรี และนายณรงค์ ขูรูรักษ์ ผอ.กองสวัสดิการสังคม เทศบาลตำบลโนนบุรี เข้าพบ นางเฉลิมขวัญ หล่อตระกูล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อหารือแนวทางบรรจุแผนการสร้างภาพยนตร์เรื่อง JURASSIC NEW WORLD ไว้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนอุทยานธรณี Kalasin Geopark โดยนายก อบจ.กาฬสินธุ์ ยินดีสนับสนุนการสร้างภาพยนตร์ฯเรื่องนี้ ให้อยู่ในแผนงานขับเคลื่อน Geopark และยินดีให้หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรฯ นายกเทศมนตรีตำบลโนนบุรี และคณะ ร่วมเป็นคณะทำงานฯ เพื่อร่วมกันหนุนเสริมการขับเคลื่อน Kalasin Geopark ให้ได้รับการรับรองเป็นอุทยานธรณี ระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับโลกของยูเนสโก ในอนาคต ตามลำดับ

ดร.นิรุจน์ อุทธา หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตามที่จังหวัดกาฬสินธุ์ โดย องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ดำเนินการขับเคลื่อนเพื่อขอรับรองอุทยานธรณีระดับท้องถิ่น ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอุทยานธรณี และกรมทรัพยากรธรณี วัตถุประสงค์เพื่อให้การคุ้มครองหรืออนุรักษ์ ให้การศึกษา และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยเหตุที่กาฬสินธุ์เป็นแหล่งค้นพบฟอสซิลซากไดโนเสาร์ที่มีความสมบูรณ์มากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบในพื้นที่ 7 อำเภอ ประกอบกับ สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ขับเคลื่อนการสร้างภาพยนตร์ซอฟเพาเวอร์เรื่อง กาฬสินธุ์ตำนานเมืองไดโนเสาร์โลก หรือ Jurassic New World มุ่งยกระดับการท่องเที่ยวสู่นานาชาติ สร้างเศรษฐกิจชุมชน และแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายเดียวกับการขับเคลื่อนพัฒนา Geopark โอกาสนี้ จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ มีความยินดีที่จะบรรจุแผนการสร้างภาพยนตร์ Jurassic New World ให้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน Kalasin Geopark เพื่อให้ได้รับการรับรองในระดับโลกของยูเนสโก (UNESCO Global Geopark) ในอนาคต ระยะแรกได้อนุญาตให้เข้าร่วมชี้แจงประโยชน์ของการสร้างภาพยนตร์ฯในเวทีชี้แจงเพื่อสร้างการรับรู้ Geopark ของภาครัฐ ประชาชน และเอกชน ในพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ คำม่วง สมเด็จ สหัสขันธ์ นาคู ห้วยผึ้ง กุฉินารายณ์ และเขาวง ระหว่างวันที่ 22 ก.ค.- 23 ส.ค.2566 ที่จะถึงนี้

ดร.นิรุจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับตัวชี้วัดการประเมิน Geopark ที่มีคะแนนสูงสุด คือ การมีพื้นที่ที่มีความโดดเด่น ร่วมกับมีการบริหารจัดการแบบองค์รวม ทั้งด้านการคุ้มครอง การศึกษาวิจัย และการนำทรัพยากรธรณีไปพัฒนาเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจชุมชนแบบมีส่วนร่วมได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น การสร้างภาพยนตร์ฯ ซอฟเพาเวอร์ Jurassic New World จะช่วยเสริมพลังการขับเคลื่อน Kalasin Geopark ได้เป็นอย่างดี

#Kalasin Smart Green City #Soft Power #Jurassic New World #Geopark

ตระกูล ภูพวงเพชร /รายงาน