• พฤหัส. พ.ค. 2nd, 2024

จ.กาฬสินธุ์ เดินหน้าขับเคลื่อนอุทยานธรณี จัดเวทีสร้างการรับรู้ประโยชน์ Geopark ในพื้นที่ชุมชนภูน้อย แหล่งค้นพบมินิเคอเซอร์ ไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ของโลก ลำดับที่ 13 ของประเทศไทย

วันที่26 กรกฎาคม 2566 เวลา 13.00 น. นางเฉลิมขวัญ หล่อตระกูล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประธานพิธีเปิดและมอบนโยบายการขับเคลื่อนอุทยานธรณีจังหวัดกาฬสินธุ์ เวทีสร้างการรับรู้และความเข้าใจอุทยานธรณีกาฬสินธุ์ ณ ห้องประชุม อบต.ดินจี่ อำเภอคำม่วง กล่าวรายงานโดย นายนพคุณ ปัญญาแก้ว รองปลัด อบจ.กาฬสินธุ์ ปฏิบัติหน้าที่ปลัด อบจ.กาฬสินธุ์ มีผู้ร่วมเวทีประกอบด้วย ปลัดอำเภอ พัฒนาการอำเภอ ท้องถิ่นอำเภอ สมาชิก อบจ.ในพื้นที่ฯ นายบรรทม ชะสันติ นายก อบต.ดินจี่ สมาชิก อบต. ผู้ใหญ่บ้าน/กำนัน อสม. ผู้นำชุมชนในพื้นที่ตำบลดินจี่ อ.คำม่วง และตำบลมหาไชย อ.สมเด็จ โรงเรียน ผู้ประกอบการร้านค้า กลุ่มวิสาหกิจชุมชน มีวิทยากรกระบวนการประกอบด้วย อ.ภูมิ หมั่นพลศรี มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ คณะวิทยากรจากพิพิธภัณฑ์สิรินธร กรมทรัพยากรธรณี และวิทยากรจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาฬสินธุ์

โอกาสนี้ นายขัตติยา ชัยมณี วัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ และ ดร.นิรุจน์ อุทธา หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมให้ความรู้ ความเข้าใจ และประชาสัมพันธ์การขับเคลื่อนการสร้างภาพยนตร์ Soft Power เรื่อง Jurassic New World ผ่ามิติทะลุโลกล้านปี สนับสนุน Geopark Kalasin อีกด้วย ทำให้ผู้ร่วมเวทีฯตื่นเต้น สนุกสนาน และแสดงความเห็นต่อการพัฒนาชุมชนสู่การท่องเที่ยวกันอย่างคึกคัก


ดร.นิรุจน์ อุทธา หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า การจัดเวทีสร้างการรับรู้ประโยชน์ของการขับเคลื่อนอุทยานธรณีจังหวัดกาฬสินธุ์ หรือ Kalasin Geopark ในพื้นที่ตำบลดินจี่ อ.คำม่วง ซึ่งเป็นแหล่งค้นพบไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ของโลก ชื่อว่า “มินิโมเคอเซอร์ ภูน้อยเอนซิส” และเป็นสายพันธุ์ลำดับที่ 13 ของประเทศไทย ครั้งนี้ ได้สร้างการรับรู้แก่ผู้ร่วมเวทีเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับธรณีวิทยา โอกาสและความท้าทายในการพัฒนา เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากการค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ของโลก เชื่อมโยงการท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยนางเฉลิมขวัญ หล่อตระกูล นายก อบจ.กาฬสินธุ์ ได้กล่าวตอนหนึ่งของพิธีเปิดว่า

เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2565 กรมทรัพยากรธรณี ได้ประกาศให้กาฬสินธุ์ เป็นจังหวัดอุทยานธรณี เนื่องจากเป็นจังหวัดที่ค้นพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์ที่สมบูรณ์ที่สุดในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ มีอุทยานโลกไดโนเสาร์ที่ พิพิธภัณฑ์สิรินธร และพบซากไดโนเสาร์ครอบคลุมพื้นที่มากที่สุดในประเทศ คือ 7 อำเภอ ได้แก่ คำม่วง สหัสขันธ์ สมเด็จ ห้วยผึ้ง กุฉินารายณ์ นาคู เขาวง ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อน Geopark ของจังหวัดฯ และได้ทำพิธีเปิด Kalasin Geopark อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9  ธันวาคม 2565 แต่เนื่องจาก สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้มีผลต่อการขับเคลื่อนในภาพรวม วันนี้ถือเป็นการเริ่มต้นเดินหน้าขับเคลื่อนสร้างการรับรู้ประโยชน์ของ Geopark ของจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อให้คนกาฬสินธุ์รับรู้ เห็นประโยชน์ เห็นคุณค่า และมองเป้าหมายเดียวกัน และร่วมกันนำเอาทรัพยากรที่มีคุณค่า การค้นพบไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ของโลกที่จังหวัดกาฬสินธุ์ มาเชื่อมโยงให้เกิดมูลค่าจากการท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งด้านการพัฒนาถนนหนทาง แหล่งท่องเที่ยว ที่พัก โรงแรม สวนสนุก คาเฟ่ ร้านอาหาร ผลิตภัณฑ์ สินค้าเกษตร ของฝาก ที่ระลึก ฯลฯ

เพื่อสร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะ ตำบลดินจี่ มีต้นทุนสำคัญคือเป็นพื้นที่ผลิตผ้าไหมแพรวา และเป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์ อีกทั้ง การสร้างภาพยนตร์กาฬสินธุ์ตำนานเมืองไดโนเสาร์โลก จะช่วยทำให้การขับเคลื่อน Kalasin Geopark ไปสู่ระดับประเทศได้ภายในเวลา 3 ปี จากนั้นจะขอรับรองเป็น Global Geopark ระดับโลกจาก UNESCO ต่อไป เพราะหัวใจของ Geopark คือ People คำตอบสุดท้ายคือประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นนั่นเอง นายก อบจ.กาฬสินธุ์ กล่าว ทำให้ผู้ร่วมเวทีมองเห็นเป้าหมายร่วมกัน สร้างรอยยิ้ม แสดงความเห็น และมีความสุขอย่างมาก ต่อการพัฒนา Geopark ในครั้งนี้

#Kalasin Geopark #Global Geopark #Soft Power

#Jurassic New World #Jurassic City #Minimocursor Phunoiensis