• เสาร์. ก.ค. 27th, 2024

กลุ่มชาวบ้านหนุนโครงการโรงไฟฟ้าขยะยื่นหนังสือต่อผู้ว่าฯกาฬสินธุ์ หวังกำจัดขยะที่เพิ่มมากขึ้นทุกวันเป็นสวนสาธารณะ สร้างรายได้ให้คนในชุมชน

วันนี้ (3 สิงหาคม 2566) กลุ่มประชาชนในชุมชนรอบโรงไฟฟ้าขยะ เทศบาลกมลาไสย อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์กว่า 20 คน ได้เข้ายื่นหนังสือสนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้าขยะให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมีนายภัทรพล ลักษณาวิบูลย์กุล ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์, นางนงลักษณ์ บุญดาราช ผู้อำนวยการกลุ่มงานบริการสาธารณะท้องถิ่นและประสานงานท้องถิ่นอำเภอ พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นตัวแทนเข้ารับมอบหนังสือฯ

โดยเนื้อหาในหนังสือฉบับดังกล่าว มีใจความว่า ปัจจุบันขยะในประเทศไทยเพิ่มปริมาณมากขึ้น จนทำให้เกิดวาระแห่งชาติ โรงไฟฟ้าขยะเทศบาลตำบลกมลาไสยเป็นโครงการที่มุ่งเน้นในการกำจัดขยะโดยกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไม่ก่อให้เกิดมลพิษและมลภาวะ เนื่องจากเป็นการใช้ระบบเผาไหม้แบบแก๊สระบบปิด ปลอดภัยได้มาตรฐานระดับสากล นอกจากจะได้ประโยชน์ในการลดปริมาณขยะแล้ว สิ่งสำคัญที่ได้ คือ กระแสไฟฟ้าที่สามารถใช้ในประเทศได้

การก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ มีกระบวนการในการตรวจสอบโดยรัฐหลายขั้นตอน มีความละเอียดถี่ถ้วน โดยผ่านคณะกรรมการหลายคณะ และทำอย่างถูกต้องโปร่งใส มีเอกสารหลักฐานครบถ้วนสามารถตรวจสอบได้

กระแสไฟฟ้าที่ได้ ขยะที่ถูกกำจัดอย่างถูกกรรมวิธี ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่คนในชุมชนดีขึ้น บ่อขยะจะถูกปรับภูมิทัศน์เป็นสวนสาธารณะ มีสวัสดิการทางสาธารสุข เช่น ประกันสุขภาพ ประกันชีวิต เป็นต้น ให้แก่ชุมชนรอบโรงไฟฟ้า เทศบาลตำบลกมลาไสยได้ผลตอบแทนทุกๆ เดือน เพื่อนำไปต่อยอดในการพัฒนาบ้านเมืองต่อไป

ดังนั้น ในฐานะประชาชนในชุมชนรอบโรงไฟฟ้าขยะ ได้เล็งเห็นผลประโยชน์ทั้งต่อตนเอง สังคม บ้านเมือง จึงเห็นสมควรขอสนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าขยะเทศบาลตำบลกมลาไสยด้วยใจจริง ด้วยความเคารพอย่างสูง ประชาชนในชุมชนรอบโรงไฟฟ้าขยะเทศบาลตำบลกมลาไสย

ด้านตัวแทนกลุ่มชาวบ้านรายหนึ่ง (ขอสงวนชื่อจริง) บอกว่า เราได้รับข้อมูลว่าก่อนหน้านี้ได้มีมวลชนกลุ่มหนึ่งเข้ามายื่นหนังสือคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะกับทางจังหวัด ซึ่งทางเราได้นำชาวบ้านที่พักอาศัยอยู่ใกล้เขตที่จะก่อสร้างโรงงานฯ ไปศึกษาดูงานโรงไฟฟ้าขยะที่อื่นที่ทำมาแล้วจนประสบความสำเร็จ ได้เห็นว่าเป็นโรงงานในระบบปิด ไม่เป็นมลพิษต่อชุมชน และยังสามารถที่จะสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้ด้วย อยากเช่นการคัดแยกขยะ ที่เป็นขยะแห้งที่ผ่านการอัดแท่งมาเรียบร้อยแล้ว ไม่ใช่ขยะเปียกอย่างที่หลายคนเข้าใจผิด ถือเป็นการกำจัดขยะที่ปัจจุบันมีมากขึ้นทุกวัน เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการกำจัดขยะ และหลังจากที่โรงไฟฟ้าขยะกำจัดขยะในพื้นที่บ่อขยะเดิมได้แล้ว ก็จะเปลี่ยนพื้นที่ให้เป็นสวนสาธารณะให้คนในชุมชนได้มีพื้นที่สีเขียวในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน จึงได้นำชาวบ้านรอบโรงไฟฟ้า อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ที่สนับสนุนโรงไฟฟ้าขยะ RDF และบ่อทิ้งขยะเดิมของเทศบาลตำบลกมลาไสยเข้ามายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ในวันนี้

อย่างไรก็ตามตัวแทนของผู้ว่าฯ ที่รับหนังสือเรื่องนี้ จะได้นำเรื่องเสนอต่อผู้ว่าฯ และหาวิธีให้ทั้งกลุ่มที่สนับสนุนและกลุ่มที่คัดค้าน ได้มีเวทีเจราหารือกันอีกครั้งในโอกาสอันใกล้นี้