• อังคาร. เม.ย. 30th, 2024

กาฬสินธุ์ พุทธศาสนิกชนร่วมทำบุญข้าวสาก อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ญาติผู้ล่วงลับ

เช้าวันนี้ (29 ก.ย. 2566) ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ขอเชิญพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ร่วมทำบุญข้าวสาก ตามประเพณีฮีตสิบสองครองสิบสี่ของชาวอีสาน ณ วัดกุดอ้อ ตำบลหลุบ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมีพระครูสุตรัตนานุกูล เจ้าอาวาสวัดกุดอ้อ เลขานุการเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมคณะสงฆ์จำนวน 6 รูป เจริญพระพุทธมนต์ และกล่าวสัมโทนียกถา หลังจากนั้นเหล่าญาติที่นำห่อข้าวน้อยมาก็นำไปวางตามอัฐิธาตุ อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับญาติผู้ล่วงลับ

“บุญข้าวสาก”

“สาก” ในที่นี้มาจากคำว่า “ฉลาก” ในภาษาไทย ข้าวสากหรือฉลากภัตร บุญข้าวสาก คือ การทำบุญที่ให้พระเณรทั้งวัด จับสลากเพื่อจะรับปัจจัยไทยทาน ตลอดจนสำรับกับข้าว ที่ญาติโยมนำมาถวาย

ทำความรู้จักวันบุญข้าวสาก : วันบุญข้าวสากเป็นประเพณีการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และอุทิศส่วนกุศลให้กับสัตว์นรกหรือเปรต นิยมทำในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นประจำทุกปีของประเพณีสิบสองเดือน หรือ “ฮิตสิบสอง” (ฮีต มาจากคำว่า จารีต ฮีตสิบสอง คือ จารีตประเพณีสิบสองเดือน) ของชาวอีสาน

ขั้นตอนประเพณี ‘บุญข้าวสาก’
จะมีการัดทำข้าวปลาอาหาร เพื่ออุทิศให้ ผู้ล่วงลับไปแล้ว จะทำสากหรือสลาก มีคำอุทิศส่วนกุศลใส่กระดาษบันทึกชื่อ ผู้มีจิตศรัทธาบริจาค และความประสงค์ว่าจะบริจาคทานให้แก่ผู้ใด โดยบอกชื่อผู้ที่จะ มารับส่วนกุศลด้วย

โดยก่อนถึงกำหนดวันทำบุญข้าวสาก คือ วันขึ้น 13-14 ค่ำ เดือนสิบ ชาวบ้าน จะเตรียมอาหารชนิดต่าง ๆ มีทั้งข้าว เนื้อ ปลา ข้าวเม่า ข้าวพอง ข้าวตอก ขนม และอาหารคาวหวานอื่น ตลอดจนผลไม้ต่าง ๆ ไว้สำหรับทำบุญ เมื่อเตรียมสิ่งของทำบุญเรียบร้อย แล้ว ชาวบ้านจะเอาข้าวปลาอาหารที่มีอยู่ไปส่งญาติพี่น้องอาจส่งก่อนวันทำบุญหรือส่งในวันทำบุญเลยก็ได้ สิ่งของเหล่านี้มักแลกเปลี่ยนกัน ไปมา ระหว่างญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เรือนเคียง ถือว่าเป็นการได้บุญ

เมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนสิบ ตอนเช้า ชาวบ้านจะพากันนำอาหารคาวหวานต่างๆ ไปทำบุญตักบาตรที่วัด และถวายทานอุทิศส่วนกุศล ให้ญาติมิตรผู้ล่วงลับไปแล้ว

ในตอนสายของวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนสิบ ชาวบ้านจะนำข้าวปลาอาหารที่เตรียมไว้ เป็นข้าวสาก ไปวัดอีกครั้งหนึ่งก่อนที่จะถวาย ข้าวสากแด่พระภิกษุสามเณร จะกล่าวคำถวายข้าวสาก หรือสลากภัตพร้อมกัน

เมื่อเสร็จพิธีถวายข้าวสากชาวบ้านที่ไปร่วมพิธี นิยมเอาชะลอมหรือห่อข้าวสากไปวางไว้ตามที่ต่าง ๆ ในบริเวณวัด พร้อมจุดเทียนและบอกกล่าวให้ญาติ หรือเปรตผู้ล่วงลับไปแล้วมารับเอาอาหารต่าง ๆ ที่วางไว้ และขอให้มารับส่วนกุศลที่ทำบุญอุทิศไปให้

หลังจากการถวายข้าวสากแด่พระภิกษุสามเณร และนำอาหารไปวางไว้ตามบริเวณวัดเสร็จแล้ว ก็มีการฟังเทศน์ฉลองข้าวสาก และกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล ไปให้เปรตและญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว นอกจากนี้ ผู้ที่มีนา จะนำข้าวสากไปเลี้ยง “ตาแฮก” ที่นาของตน เพื่อให้ตาแฮกรักษานาและให้ข้าวกล้าอุดมสมบูรณ์ เป็นเสร็จพิธีทำบุญข้าวสาก

ตระกูล ภูพวงเพชร /รายงาน
www.kalasinnews.com