• พฤหัส. พ.ย. 7th, 2024

รมช.เกษตรฯ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์

วันนี้ (8 ต.ค. 2566) ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ ลงพื้นที่ช่วยเหลือและติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมีนายสำเริง ม่วงสังข์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์, นางเฉลิมขวัญ หล่อตระกูล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์, นายสุเทพ ชัยวัฒน์ นายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์, นายสำรวย อินพิทักษ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว, หัวหน้าส่วนราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหัวหน้าส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย จ.กาฬสินธุ์ ให้การต้อนรับ

โดยในช่วงเช้ารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ ได้เข้ารับฟังรายงานสถานการณ์น้ำท่วม ณ ห้องประชุม โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว หลังจากนั้นได้ออกเดินทางไปยังอาคารฝันน้ำในเขื่อนลำปาว ซึ่งปัจจุบันเขื่อนลำปาว มีปริมาณน้ำเก็บกัก จำนวน 2,015 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 101.77% มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ 36.47 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำ 26.47 ล้าน ลบ.ม.

นายไชยา พรหมา รมช.เกษตรฯ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า วันนี้ได้มาดูที่เขื่อนลำปาว เนื่องจากเมื่อ 2 วันที่แล้วได้ติดตามท่านนายกรัฐมนตรีไปที่จังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร และขอนแก่น ทราบว่าจากที่เขื่อนลำปาวมีการระบายน้ำทำให้ส่งผลกระทบไปยังพื้นที่ใต้เขื่อน ไปยังจังหวัดร้อยเอ็ด ยโสธร ถึงอุบลราชธานี เพราะฉะนั้นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจะแก้ไขที่จุดใดจุดหนึ่งไม่ได้ ท่านนายกฯ จึงได้มีบัญชาว่าจากนี้ไปการบริหารจัดการน้ำ การบริหารเขื่อนทั้งหมดต้องสอดคล้องกัน ไม่ว่าการระบายน้ำไปยังท้ายเขื่อน ระยะเวลาพอเหมาะ ต้องมีการคาดการณ์ว่าสถานการณ์ของฝนที่จะมากับการที่จะกักเก็บน้ำเขื่อนแต่ละแห่งที่มีอยู่ อาจจะต้องมีการปรับในฤดูกาลว่าเราอาจจะต้องมีการระบายน้ำให้เร็วกว่าเดิมขึ้น แต่ทั้งนั้นทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการพยากรณ์อากาศเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบ ให้มีความเสี่ยงน้อย ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อหน้าแล้งด้วย วันนี้ก็ได้ทราบว่าเป็นวันแรกที่เราลดการระบายน้ำเขื่อนลำปาวลง ให้เหลือ 20 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน เพื่อชะลอน้ำไปยังท้ายเขื่อนลดลง ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรท้ายน้ำ

“วันนี้ทางกระทรวงเกษตรฯ เอง หลังจากน้ำลดเราก็จะเข้ามาเยียวยา ทั้งเรื่องพืช เรื่องปศุสัตว์ ประมง ทั้งพื้นที่การเพาะปลูกข้าว กรมการข้าวของเราก็ต้องไปคิดค้นงาน R&D ในการที่จะหาพันธุ์ข้าวที่มันทนน้ำ ทนแล้ง ซึ่งอย่างนี้กระทรวงเกษตรฯ ก็ต้องหาวิธีการแก้ปัญหาต่อไป ส่วนเรื่องของตลาดและนวัตกรรมเสริมนั้น เป็นนโยบายหลักของรัฐบาลที่ต้องการแก้ไขปัญหาเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร เราใช้ 3 แนวทางคือ ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ เพราะฉะนั้นองคาพยพของกระทรวงเกษตรฯ วันนี้ในการกระบวนการผลิตเอง แม้ในเรื่องของปศุสัตว์เอง หน่วยงานที่อยู่ภายใต้การรับผิดชอบก็พยายามเปิดตลาดใหม่ๆ ให้งานทางการปศุสัตว์โปรโมทออกไปยังต่างประเทศ แม้กระทั่งเรื่องการเพาะปลูกก็เหมือนกัน ผมคิดว่าเราคงจะไม่ใช้วิธีการผลิตแบบปริมาณอีกแล้ว เพราะฉะนั้นคำว่าตลาดนำหมายความว่าเราต้องดูความต้องการของตลาดคืออะไรบ้าง เพราะวันนี้เรายังมีปัญหาในเรื่องของหัวอาหารสัตว์ ซึ่งใช้ผลผลิตทางการเกษตร เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง วันนี้เราอาจจะปลูกข้าวเยอะไปในขณะที่หัวอาหารสัตว์เรายังขาดแคลนซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรต้องเข้าไปกำหนดและส่งสัญญาณให้เกษตรกรได้วางแผนร่วมกันเพื่อเป้าหมายในการแก้ปัญหา” รมว.กล่าวเสริม

หลังจากนั้น รมว.เกษตรฯ พร้อมคณะ ได้ออกเดินทางไปพบปะผู้ประสบภัยน้ำท่วม ที่บ้านท่าสิน, บ้านสีดา ต.ลำพาน อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ส่วนช่วงบ่ายได้เดินทางไปพบปะผู้ประสบภัยน้ำท่วม และติดตามสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำชี บ้านเหล่าอ้อย ต.เหล่าอ้อย และบ้านธนบุรี ต.โพนงาม อ.กมลาไสย และบ้านโนนศิลาเลิง ต.โนนศิลาเลิง อ.ฆ้องชัย จากนั้นเดินทางไปยังบ้านอุ่มเม่า ต.อุ่มเม่า บ้านดอนยานาง ต.ดอนสมบูรณ์ บ้านเชียงสา ต.บัวบาน บ้านท่าเรือ ต.นาเชือก อ.ยางตลาด ก่อนจะเดินทางกลับไปยังท่าอากาศยานขอนแก่นต่อไป

ตระกูล ภูพวงเพชร /รายงาน
www.kalasinnews.com