• ศุกร์. พ.ค. 3rd, 2024

กาฬสินธุ์ติดตามความคืบหน้าการวิจัย การประยุกต์ใช้โรงเรือนปลูกพืช สำหรับอบแห้งใบกระท่อมด้วยระบบควบคุมการไหลเวียนอากาศร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์

จังหวัดกาฬสินธุ์ โดย ดร.อภิญญา ภูมิสายดอน ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการและพัฒนาคุณภาพนักศึกษา คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ หัวหน้าโครงการวิจัยเรื่อง “การประยุกต์ใช้โรงเรือนปลูกพืชสำหรับอบแห้งใบกระท่อม ด้วยระบบควบคุมการไหลเวียนอากาศร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์” พร้อมคณะนักวิจัย ร่วมกับ ดร.นิรุจน์ อุทธา หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมด้วย น.ส.พิมพ์ณดา โชติธนาพนธ์ปภัส นักวิชาการเกษตรชำนาญการ และ น.ส.ชญาณภัศร์ สินธุศิริ พนักงานสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ติดตามความคืบหน้าโครงการวิจัยฯ ด้านโครงสร้างการจัดทำโรงเรือนอบแห้งด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบวงจรการควบคุมด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อวางแผนการทดลองอบใบกระท่อมและพืชสมุนไพร พร้อมทดสอบคุณภาพด้วยการตรวจสาระสำคัญทางห้องปฏิบัติการ (LAB) ก่อนนำไปให้กลุ่มเกษตรกรใช้ประโยชน์อย่างเป็นทางการ

ดร.นิรุจน์ อุทธา หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า โครงการวิจัยเรื่อง “การประยุกต์ใช้โรงเรือนปลูกพืช สำหรับอบแห้งใบกระท่อม ด้วยระบบควบคุมการไหลเวียนอากาศร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์” เป็นความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กับสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ วัตถุประสงค์เพื่อประยุกต์ใช้โรงเรือนปลูกพืช ด้วยวัสดุไม่โปร่งแสง ควบคุมความร้อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ อบใบกระท่อมให้มีสีเขียวเพื่อถนอมสารไมตร้าไจนีน (Mitragynine) ก่อนนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรในเชิงพาณิชย์ ซึ่งโครงการวิจัยฯดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ปีงบประมาณ 2566 สนับสนุนนโยบายการส่งเสริมการปลูก การแปรรูปสมุนไพรและพืชทางเลือกจังหวัดกาฬสินธุ์ อย่างเป็นระบบครบวงจร ปัจจุบันความคืบหน้าโครงการวิจัยฯ ด้านโครงสร้างโรงเรือน การติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมแผงควบคุม ระบบพัดลมดูดอากาศเข้าออกเพื่อควบคุมความร้อนไม่เกิน 50 องศาเซลเซียส โต๊ะสำหรับวางสมุนไพร 3 ชุด ๆ ละ 3 ชั้น และระบบควบคุมอัตโนมัติด้วยมือถือ เสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมดำเนินการตามแผนการวิจัยต่อไป คือ 1.การนำใบกระท่อมสดไปอบในโรงเรือนเพื่อให้ได้สีเขียว 2.นำใบที่อบแห้งแล้ว ไปตรวจสารไมตร้าไจนีน ทางห้องปฏิบัติการ เปรียบเทียบกับ ใบกระท่อมสดในแปลงเดียวกัน ว่าสามารถถนอมสารไมตร้าไจนีน ได้มากน้อยเพียงใด แตกต่างจากวิธีการอบใบกระท่อมด้วยวิธีอื่นๆหรือไม่ อย่างไร ? และจัดประชุมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้วยระบบควบคุมการทำงานด้วยโทรศัพท์มือถือ ให้กับเกษตรกรกลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนกรีนฟาร์มเมอร์กาฬสินธุ์ หรือกลุ่มอื่นๆที่สนใจ ได้ใช้ประโยชน์ต่อไป คาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือน มีนาคม 2567 นี้

ดร.นิรุจน์ กล่าว และเพิ่มเติมว่า โครงการวิจัยฯดังกล่าวนี้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับ พืชสมุนไพรอื่นๆได้ เช่น กัญชง ฟ้าทะลายโจร มะรุม ฯลฯ ทั้งนี้ สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ จะร่วมกับ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ สำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพัฒนาระบบการผลิตแบบเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) ต่อยอดการแปรรูปเกษตรอุตสาหกรรม พืช สมุนไพร เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปเกษตรอินทรีย์ OKAY Brand(Organic Kalasin) และ ผลิตภัณฑ์สินค้าท่องเที่ยว Dino Brand ตามแนวทางพัฒนาสินค้าผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยว Geopark TPOT (Tourism Product of Thailand) ให้เป็น Soft Power ของจังหวัดกาฬสินธุ์ ต่อไป

ตระกูล ภูพวงเพชร /รายงาน
www.kalasinnews.com