• ศุกร์. พ.ค. 3rd, 2024

สำนักงานสภาเกษตรกรกาฬสินธุ์ ยกร่างข้อเสนอเชิงนโยบาย ยกระดับอาชีพเกษตรกรรมยุคใหม่ สู่ “เมืองเกษตรอัจฉริยะ” ตามยุทธศาสตร์ Kalasin Smart Green City รณรงค์การใช้โดรนเพื่ออาชีพเกษตรกรรมยุคใหม่ ทั้งการพัฒนาความรู้ ใบอนุญาต การบริการอย่างมืออาชีพ แบบครบวงจร พร้อมจัดตั้งเป็น “ศูนย์ AIC ต้นแบบจังหวัดกาฬสินธุ์”

วันที่ 11 ตุลาคม 2566 เวลา 10.30 น. ดร.นิรุจน์ อุทธา หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ ประชุมพนักงานสำนักงานฯ เพื่อยกร่าง ข้อเสนอเชิงนโยบาย ยกระดับอาชีพเกษตรกรรมยุคใหม่ มุ่งสู่ “เมืองเกษตรอัจฉริยะ” ตามยุทธศาสตร์ Kalasin Smart Green City รณรงค์การใช้โดรนเพื่ออาชีพเกษตรกรรมยุคใหม่ ทั้งการพัฒนาความรู้ ใบอนุญาต การบริการอย่างมืออาชีพ แบบครบวงจร พร้อมจัดตั้งเป็น “ศูนย์ AIC ต้นแบบจังหวัดกาฬสินธุ์” เพื่อเป็นโมเดลนโยบายการพัฒนาสู่เมืองเกษตรอัจฉริยะ อย่างเป็นรูปธรรม


ดร.นิรุจน์ อุทธา หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ เปิดเผยถึงที่มาของการขับเคลื่อนนโยบาย ยกระดับอาชีพเกษตรกรสู่เกษตรอัจฉริยะของจังหวัดกาฬสินธุ์ว่า กาฬสินธุ์เป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์ ประชาชนประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก แต่มีรายได้ภาคการเกษตรในระดับต่ำ โดยรวมแล้วมี GDP รั้งท้ายเป็นลำดับที่ 2 ของประเทศ และเกษตรกรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตรแบบดั้งเดิม มีรายได้น้อยกว่าเส้นแบ่งขีดความยากจน และมีหนี้สิน ประกอบกับปัจจุบัน วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว แรงงานภาคการเกษตรหายากและมีราคาแพง

หากเกษตรกรยังทำอาชีพเกษตรแบบดั้งเดิมต่อไป จะไม่สามารถแข่งขันการตลาด ทั้งด้านคุณภาพและราคา ได้ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องผลักดันนโยบายการเกษตรยุคใหม่ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม จับต้องได้ และได้ผลจริง สามารถลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกร เปลี่ยนวิถีการเกษตรจากเดิม ทำมากได้น้อย ไปเป็นเกษตรยุคใหม่ ทำน้อยแต่ได้มาก ด้วยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สมัยใหม่มาใช้ เพื่อประหยัด ลดต้นทุน สามารถปลูกพืชผักได้หลายรอบในแต่ละปี ฯลฯ ดังนั้น สำนักงานสภาเกษตรกรฯกาฬสินธุ์ จึงได้ร่วมมือกับ ฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาชุมชน สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตัล (depa) กระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยเข้าร่วมโครงการฯ One Tumbol One Digital (OTOD) รณรงค์ส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรยุคใหม่ สมัครร่วมโครงการฯ

โดยกลุ่มเกษตรกรที่สมัครร่วมโครงการฯ จะได้รับสิทธิประโยชน์ในการฝึกอบรม พัฒนาศักยภาพด้านการใช้โดรนเพื่อการเกษตรอย่างถูกกฎหมาย ได้รับใบอนุญาต มีใบครอบครอง ให้บริการได้ ซ่อมบำรุงได้ สามารถมีรายได้จากการให้บริการฉีดพ่นสารเคมี ชีวภัณฑ์ ปุ๋ย หว่านเมล็ดพันธุ์ แก่สมาชิกและเกษตรกรที่มารับบริการได้ สามารถจัดตั้งเป็น ศูนย์ (Agri-Tech Innovation Center หรือ AIC) ประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว และแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงานด้านเกษตรอัจฉริยะ ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีแบบ Smart Farming รูปแบบอื่นๆได้ โดยการสนับสนุนของ depa และสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยจะเริ่มในปีงบประมาณ 2567 ทั้งนี้ สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ จะได้จัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเมืองเกษตรอัจฉริยะ ต่อ ที่ประชุมสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ และประสานนโยบายฯกับสำนักงานจังหวัดกาฬสินธุ์ ตามลำดับขั้นตอนต่อไป โอกาสนี้ จึงขอประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรผู้สนใจสมัครร่วมเป็น “เกษตรกรอัจฉริยะกลุ่มต้นแบบจังหวัดกาฬสินธุ์” โดยสอบถามรายละเอียดและสมัครได้ที่ สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัด โทรศัพท์ 043-816759 ในวันเวลาราชการ

#กาฬสินธุ์ขับเคลื่อนนโยบายเมืองเกษตรอัจฉริยะ