• พฤหัส. ก.ย. 19th, 2024

สกจ.กาฬสินธุ์ วิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ “ป่นปลาแก้จน (คนพอเพียง)”

สกจ.กาฬสินธุ์ วิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ “ป่นปลาแก้จน (คนพอเพียง)” ส่งเสริมเกษตรกรแปรรูปปลาเขื่อนลำปาว ขับเคลื่อนนโยบายขจัดปัญหาความยากจนของคนกาฬสินธุ์อย่างยั่งยืน

สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ ประชุมพนักงานหารือแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายขจัดปัญหาความยากจนของคนกาฬสินธุ์อย่างยั่งยืน ตามที่ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับ นายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมพนักงานฯ ได้เห็นชอบแผนการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ “ป่นปลาแก้จน (คนพอเพียง)” เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรแปรรูปปลาเขื่อนลำปาว เป็นผลิตภัณฑ์ปลาป่นแก้จน (คนพอเพียง) ด้วยการนำปลาเล็กปลาน้อยจากเขื่อนลำปาว มาตากแดดด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ อบ บด ปรุงรส เป็นป่นแห้ง บรรจุซอง จำหน่าย ราคาซองละ 10 บาท ด้วยแนวคิด “ผู้ผลิตมีรายได้ ผู้ใช้ประหยัด” สนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายขจัดปัญหาความยากจนของจังหวัดกาฬสินธุ์ ตามยุทธศาสตร์ Kalasin Smart Green City ปี 2567

ดร.นิรุจน์ อุทธา หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า ด้วย สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับ นายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ในการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ณ ห้องประชุมโสมพะมิตร ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วน โดยจังหวัดกาฬสินธุ์ได้ประกาศให้การแก้ไขปัญหาความยากจนเป็นวาระของจังหวัดกาฬสินธุ์ นั้น ในการนี้ สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ดำเนินการวิจัยพัฒนา “ป่นปลาแก้จน” เพื่อสนับสนุนนโยบายแก้จนดังกล่าว ตามภารกิจและยุทธศาสตร์ Kalasin Smart Green City ด้านเกษตรอุตสาหกรรมแปรรูป (ITC) และ สินค้าเกษตรอินทรีย์กาฬสินธุ์ (OK Brand) ประกอบกับจังหวัดกาฬสินธุ์มีเขื่อนลำปาวที่อุดมสมบูรณ์ เกษตรกรมีอาชีพประมงตลอดปี โดยเฉพาะสามารถจับปลาเล็กปลาน้อยได้เป็นจำนวนมาก หากมีการนำไปแปรรูปผลิตภัณฑ์ก็จะเพิ่มมูลค่าได้มากขึ้น จึงได้ดำเนินการวิจัยทดลองแปรรูปปลาเล็กปลาน้อยจากเขื่อนลำปาว เป็นผลิตภัณฑ์ “ป่นปลาแก้จน (คนพอเพียง)” ขึ้น

ดร.นิรุจน์ อุทธา กล่าวอีกว่า ด้วยการนำปลามา ตากด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ อบ บด ปรุงรส บรรจุในซองพลาสติก เป็น “ป่นปลาแก้จน (คนพอเพียง)” ออกแบบบรรจุภัณฑ์ (Packaging) ให้เป็นสินค้าท่องเที่ยว TPOT ด้วย และจำหน่ายในราคาประหยัด เพียงซองละ 10 บาท มีสโลแกนว่า “แซบหลาย สะอาด ปลอดภัย มีโปรตีนสูง ช่วยประหยัด” เป็นการเพิ่มมูลค่าอาชีพให้เกษตรกร ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย มีรายได้ และผู้ใช้ก็ประหยัด เรียกว่า ประโยชน์สูง ประหยัดสุด สามารถแก้ปัญหาความยากจนได้ เป็นสินค้าต้นแบบ เหมาะสำหรับการนำไปวางจำหน่ายในร้านค้าชุมชน ซึ่งผลการวิจัยฯ ได้ป่นปลาที่มีรสชาติอร่อย แซบมาก เพียงเติมน้ำร้อน คนให้เข้ากัน รับประทานได้ทั้งข้าวเหนียว ข้าวหุง กับ ผักสด ลวกผัก ลดอ้วน ลดพุง สุขภาพดี ตามวิถีพอเพียง ดร.นิรุจน์ กล่าว และเพิ่มเติมว่า เกษตรกรผู้สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ต้นแบบ “ป่นปลาแก้จน(คนพอเพียง)” ที่ สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดฯ โทรศัพท์ 043-816759 ในวันเวลาราชการ

ตระกูล ภูพวงเพชร /รายงาน
www.kalasinnews.com