• อังคาร. เม.ย. 30th, 2024

จ.กาฬสินธุ์ ประชุมคณะกรรมการอำนวยการสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) พิจารณาการอนุญาตต่ออายุสินค้า GI ข้าวเหนียวเขาวงกาฬสินธุ์ รองรับการจำหน่ายช่องทางการตลาดมูลค่าสูงของ CP และพัฒนาคู่มือการปฏิบัติให้ทันสมัยด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 13.30 น. นายธวัชชัย รอดงาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการสินค้าสิ่งบ่งชี้ทาภูมิศาสตร์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ครั้งที่ 1/2567 ณ ห้องผาเสวย ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมีนางอุตสา จิตกระเสริม พาณิชย์จังหวัดกาฬสินธุ์ กรรมการและเลขานุการ และดร.นิรุจน์ อุทธา หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมคณะกรรการอำนวยการ GI จังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมประชุมฯ เพื่อพิจารณา (1) การตรวจสอบและควบคุมกระบวนการผลิตสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สินค้า ข้าวเหนียวเขาวงกาฬสินธุ์ (2) การขอแก้ไขคู่มือการปฏิบัติงานสำหรับสมาชิกผู้ขอใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ข้าวเหนียวเขาวงกาฬสินธุ์ โดยที่ประชุมฯเหนชอบตามที่ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอ


ดร.นิรุจน์ อุทธา หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ คณะกรรมการอำนวยการสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน จังหวัดกาสินธุ์ ได้รับการรับรองสินค้า GI แล้ว จำนวน 3 รายงาน ได้แก่ (1.) ผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์ รับรองเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2550(2.) ข้าวเหนียวเขาวงกาฬสินธุ์ รับรองเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2552 และ (3.)พุทรานมบ้านโพน รับรองเมื่อวันที่ 29 กันยายน2563ในปี 2567 จังหวัดกาฬสินธุ์กำหนดแผนงานขึ้นทะเบียน สินค้า GI อีก 3 รายการ ได้แก่ กุ้งก้ามกราม มะม่วงมหาชนก และมะพร้าวน้ำหอมภูสิงห์ ส่วนข้าวเหนียวเขาวงกาฬสินธุ์ หรือ Khao Neaw Kaowong Kalasin กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประกาศ เรื่อง การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ข้าวเหนียวเขาวงกาฬสินธุ์ ทะเบียนเลขที่ สช 52100026 ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2552 กำหนดขอบเขตการผลิต ครอบคลุมพื้นที่ อำเภอเขาวง ทุกตำบล (5 ตำบล) อำเภอกุฉินารายณ์ จำนวน 2ตำบล ได้แก่ ต.นาโก ต.หนองห้าง และ อำเภอนาคู จำนวน 2 ตำบล ได้แก่ ต.นาคู , ต.บ่อแก้ว ซึ่งเป็นพื้นที่มีภูเขาล้อมรอบ สภาพดินมีสารซิลิก้าและแคลเซียมสูง ข้าวเหนียวเขาวงเป็นพันธุ์ข้าวเหนียว กข 6 และพันธุ์กอเดียว มีลักษณะพิเศษ คือ มีความนุ่มและหอม โดยเฉพาะความนุ่มของข้าวนึ่งเป็นที่ยอมรับและชื่นชอบของผู้บริโภค เนื่องจากนึ่งครั้งเดียวตอนเช้า หอมนุ่มถึงตอนเย็นโดยไม่ต้องนึ่งอีก และไม่เหนียวติดมือ ปัจจุบันมีสมาชิกได้รับการรับรอง GI จำนวนประมาณ 500 ราย รับรองสินค้า GI คราวละ 2 ปี และกำลังสิ้นสุดระยะเวลาอนุญาต ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567จำนวน 18 กลุ่ม คณะกรรมการฯ จึงประชุมพิจารณาการต่ออายุการขออนุญาตใช้ตราสินค้า GI กลุ่มที่ผ่านเกณฑ์ประเมิน จำนวน 9 กลุ่ม สาเหตุสำคัญของกลุ่มที่ไม่ผ่านเกณฑ์ คือ ปลูกข้าวด้วยวิธีหว่าน และใช้เครื่องเกี่ยวข้าวแทนเคียวเกี่ยว ซึ่งไม่เป็นไปตามคู่มือปฏิบัติงานสำหรับสมาชิกผู้ขอใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ข้าวเหนียวเขาวงกาฬสินธุ์ ปี 2552

โอกาสนี้ที่ประชุมจึงได้ระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงคู่มือการปฏิบัติฯการรับรองสินค้า GI ข้าวเหนียวเขาวงกาฬสินธุ์ ให้เพิ่มวิธีการหว่านข้าว และใช้รถเกี่ยวข้าวที่อยู่เฉพาะในพื้นที่ควบคุมฯได้ เนื่องจาก มีผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ว่า การดำ หว่าน เกี่ยวด้วยมือ หรือเกี่ยวด้วยรถ ไม่มีผลต่อความหอม และคุณภาพของข้าว อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ประชุมฯจึงมีความเห็นชอบ ให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดกาฬสินธุ์ ซี่งเป็นหน่วยงานเลขานุการ ปรับปรุงคู่มือปฏิบัติฯดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกร และสอดคล้องกับสถานการณ์การขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตร และก้าวสู่ยุคสมัยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาใช้เพื่อเพิ่มปริมาณและคุณภาพการผลิต ซึ่งจะทำให้เกษตรกรผู้ผลิตข้าวเหนียวเขาวงกาฬสินธุ์ ได้ผลผลิตที่มีปริมาณและคุณภาพมากขึ้น ในอนาคตอีกด้วย ดร.นิรุจน์กล่าว และเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน มีบริษัท CP ให้ความสนใจ ข้าวเหนียวเขาวงกาฬสินธุ์ จนมี Oder Marketing ข้าวเหนียวเขาวงกาฬสินธุ์ ที่ได้รับการรับรอง “ตราสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI” ถือเป็นโอกาสเพิ่มรายได้ของเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ได้เป็นอย่างดี

#รับรองการต่อใบอนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์ GI ข้าวเหนียวเขาวงกาฬสินธุ์

# ปรับปรุงคู่มือการปฏิบัติฯให้เป็นปัจจุบันและสอดคล้องกับเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ โดยไม่มีผลกระทบต่อคุณภาพสินค้า GI