• ศุกร์. ต.ค. 11th, 2024

กาฬสินธุ์ ขอเชิญเที่ยวชม ฮูปแต้ม สิมโบราณ อายุกว่า 100 ปี อันซีนกาฬสินธุ์

เทศบาลตำบลนาจารย์เชิญชวนเข้ากราบสักการะสิมโบราณวัดอุดมประชาราษฎร์ ชมฮูปแต้ม จิตรกรรมฝาผนังอีสาน

จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอเชิญเที่ยวชม ฮูปแต้ม สิมโบราณ อายุกว่า 100 ปี อันซีนกาฬสินธุ์ ณ วัดอุดมประชาราษฎร์ บ้านนาจารย์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ นำโดย น.ส.ผกาสรณ์ ศรีสว่างวงศ์ นายกเทศมนตรีตำบลนาจารย์ พร้อมคณะผู้บริหารสำนักงานเทศบาลตำบลนาจารย์ พากราบไหว้สักการะขอพรกับสิมโบราณ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวตำบลนาจารย์

นางอภิรดี พิพยเลิศ ปลัดเทศบาลตำบลนาจารย์ กล่าวว่า “ขอเรียนเชิญเที่ยวชมสิมวัดอุดมประชาราษฎร์ ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านนาจารย์ เทศบาลตำบลนาจารย์ ต.นาจารย์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2541 สร้างขึ้นในราวปี 2476 โดยช่างญวน ชื่อนายทองคำ จันทร์เจริญ และช่างแต้มอีสาน คือจารย์ผาย มีลักษณะที่โดดเด่นคือเป็นฮูปแต้มฝาผนัง เป็นเรื่องราวนิทานพระเวสสันดรชาดก และมีพระพุทธรูปเก่าแก่อายุ 100 ปี”

ประวัติความเป็นมาของวัดอุดมประชาราษฎร์ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2448 เดิมชื่อ วัดหัวระพา ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2472 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 6.80 เมตร ยาว 12 เมตร ผู้นำในการก่อสร้างคือ ญาคู บุปผา ผาสุวิหาโร อดีตเจ้าอาวาสในสมัยนั้น หมดเงินทั้งสิ้นจำนวน 6,000 บาทเศษ ส่วนสถาปนิก เป็นช่างญวนชื่อ นายทองคำ จันทร์เจริญ (ทองคำ แซ่อึ่ง) และ นายคำมี จันทร์เจริญ สองพี่น้องได้มามีภรรยาอยู่ที่บ้านนาจารย์ขณะที่กำลังทำสิมหลังนี้ ต่อมานายทองคำได้เสียชีวิตขณะที่อายุไม่ถึง 50 ปี มีบุตรธิดารวม 4 คน ยังมีผลงานอีกคือ

-สิมวัดบ้านหนองอีบุด อ.ห้วยผึ้ง จ.กาฬสินธุ์
-สิมวัดบ้านนา ต.ม่วงนา อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ (ทำเพียงเเอวขันก็หยุดเพราะเงินไม่พอ ได้รื้อทิ้งแล้ว)
ต่อมาปี พ.ศ. 2498 พระครูวีระพรมคุณ ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นวัดอุดมประชาราษฎร์

ที่ตั้งวัดอุดมประชาราษฎร์ ตั้งอยู่ที่บ้านนาจารย์ ถนนถีนานนท์ หมู่ที่ 3 ตำบลนาจารย์ อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 7 ไร่ 2 งาน 70 ตารางวา อาณาเขตทิศเหนือประมาณ 2 เส้น 10 วา จดถนนสาธารณะ ทิศใต้ประมาณ 2 เส้น 10 วา จดถนนสาธารณะ ทิศตะวันออกประมาณ 3 เส้น จดหนองแวง ทิศตะวันตกประมาณ 3 เส้น จดถนนสาธารณะ มีที่ธรณีสงฆ์จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 8 ตารางวา โฉนดที่ดิน เลขที่ 6691

“อาคารเสนาสนะ” ประกอบด้วยอุโบสถ กว้าง 8 เมตร ยาว 12 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2472 และกุฎิสงฆ์ 1 หลัง เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2501

รูปแบบสิม ,วัสดุและโครงสร้าง เป็นสิมขนาดใหญ่พิเศษ ตัวสิมยาว 5 ช่วงเสา กว้าง 3 ช่วงเสา รวม ความยาว 13.27 เมตร กว้าง 7.85 เมตร ระเบียงกว้าง 2.65 เมตร หากนับรวมระเบียงโดยรอบ แล้วจะได้ความกว้าง 14.50 เมตร และยาว 20 เมตรพอดี ความสูงของพื้นสิมภายในจากระดับดิน 1.40 เมตร หลังคาลด 3 ชั้น ได้ทรวดทรงพองาม มีปีกนกวิ่งอ้อมตลอดโดยใช้เสานางเรียงสี่เหลี่ยมก่ออิฐรับโดยรอบ ผนัง 3 ช่วงเสาแรก เจาะเป็นหน้าต่างทั้ง 2 ด้าน อีก 2 ช่วงเสาด้านพระประธานปิดทึบทุกช่องจะปั้นปูนเป็นอาร์คโค้ง

ส่วนโครงสร้างทั้งเสาและผนังใช้ก่ออิฐพื้นเมืองฉาบปูนปั้นลายประดับตามรูปแบบศิลปะของช่างญวน โครงสร้างหลังคาทั้งอะเสในส่วนของหลังคาปีกนกนั้น ช่างวางไม้ในทางนอนแทนที่จะวางในทางตั้ง ซึ่งจะแข็งแรงกว่า(ขนาดไม้ 1.5×8 นิ้ว ระยะระหว่างช่วงเสา 2.65 เมตร) เครื่องมุงเป็นสังกะสีทั้งหลัง การซ้อนหลังคา 3 ชั้น นับเป็นการแก้ปัญหาเรื่องระบายอากาศได้เป็นอย่างดี

ฮูปแต้ม (จิตรกรรมฝาผนังอีสาน) ที่น่าสนใจและมีคุณค่าพิเศษก็คือ ฮูปแต้ม ที่ช่าง (น่าจะเป็นช่างไท-อีสานพื้นบ้าน) เขียนไว้ในซุ้มของ 2 ช่วงที่ปิดทึบและผนังด้านนอกเฉพาะผนังส่วนกะสัด (หรือลวงขื่อ) เป็นเรื่องราวเวสสันดรชาดก พื้นของภาพเป็นสีปูนขาวของผนังที่เขียนนั้นเอง

ช่างแต้ม ผนังด้านนอกของสิมหลังนี้มีฝีมือดีมาก การให้สีสันก็สวยงาม เขียนเต็มผนังหุ้มกลองด้านนอก และด้านข้างอีกด้านละ 2 ช่วงเสา เป็นเรื่องเวสสันดรชาดก (ภาพผะเหวด) ช่างแต้มคือ จารย์ผาย อยู่บ้านคำเชียงวัน ต.สหัสขันธ์ เขียนตามศรัทธาของเจ้าภาพ ว่าจ้างเป็นช่องๆ ไปในแต่ละเรื่อง เช่น ดังคำจารึกไว้ใต้รูปเขียนหน้าหนึ่งว่า “นายสา สีบูรำ มีใจศรัทธาอาศหลาด ได้เงิน 2 บาท มาจ้างส่างแต้มมะหาพล ขอให้บุญมาก ๆ”
ส่วนช่างคำ พรพนม มาช่วยทำลายหน้าบัน และตัวโหง่

ขอบคุณดนตรีประกอบจาก ลายตนตรีพื้นบ้านอีสาน https://www.youtube.com/watch?v=qd9iuuGOico