• ศุกร์. เม.ย. 19th, 2024

กาฬสินธุ์จีโอพาร์ค ร่วมเวทีเสวนาสร้างการรับรู้ด้านอุทยานธรณีและถอดบทเรียนอุทยานธรณีในประเทศไทย

ในระหว่างวันที่ 7-8 พฤศจิกายน 2565 ตัวแทน คณะกรรมการอุทยานธรณีกาฬสินธุ์ Kalasin Geopark (อบจ.กาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ และพิพิธภัณฑ์สิรินธรจังหวัดกาฬสินธุ์) ได้เรียนรู้ รับฟังข้อเสนอแนะดีๆ มากมายจากผู้ทรงคุณวุฒิ ในกิจกรรมเสวนาสร้างการรับรู้ด้านอุทยานธรณีและถอดบทเรียนอุทยานธรณีในประเทศไทย และรับชมนิทรรศการ “Heritage of Life toward Thailand Geopark” โดย อุทยานธรณีขอนแก่น อบจ.ขอนแก่น สำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 2 ขอนแก่น และเครือข่ายอุทยานธรณีประเทศไทยและนานาชาติ ณ โรงแรมพลูแมน จังหวัดขอนแก่น

อ.ภูมิ หมั่นพลศรี หัวหน้าสาขาวิชาการท่องเที่ยว คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ หนึ่งในคณะทำงานขับเคลื่อน Kalasin Geopark กล่าวว่า ยินดีมากที่ได้พบครอบครัว Geopark อุทยานธรณีผาชันสามพันโบก อุทยานธรณีชัยภูมิ อุทยานธรณีตาก อุทยานธรณีไม้กลายเป็นหินตาก สำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 2 ขอนแก่น พิพิธภัณฑ์สิรินธรจังหวัดกาฬสินธุ์ และเครือข่ายทั่วประเทศไทย ขอบพระคุณทุกส่วนสำคัญที่ตั้งใจ มุ่งมั่นผลักดันให้เมืองน้ำดำ ได้มีแนวทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืน ด้วยการบูรณาการแบบองค์รวม ผ่าน อุทยานธรณีไทยสู่อุทยานธรณีโลก

อ.ภูมิ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ในงานยังมีข้อเสนอแนะดีดีจากท่านผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งผมขอนำมาสรุป ดังนี้

“ปัจจัยสู่ความสำเร็จ ของ ปัจจัยสู่ความสำเร็จ ของ“อุทยานธรณีโคราช” หรือ “โคราชจีโอพาร์ค” ประเทศไทย สู่ อุทยานธรณีโลก UNESCO Global Geopark” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประเทือง จินตสกุล อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลิมพระเกียรติมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ท่านได้กล่าวสรุปไว้ในงานเสวนาสร้างการรับรู้ด้านอุทยานธรณีและถอดบทเรียนอุทยานธรณีในประเทศไทย และรับชมนิทรรศการ “Heritage of Life toward Thailand Geopark”

สรุปไว้ว่ามี 7 ประการ ดังนี้

  1. ต้องมีผลงานวิจัยจำนวนมาก มีการตีพิมพ์เผยแพร่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
  2. ต้องรับรับฟังข้อเสนอแนะ ความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิด้าน Geopark ระดับนานาชาติให้มาก ๆ
  3. องค์กรหลักในการบริการงาน ต้องทำงานด้วยความทุ่มเท put the right man on the right job มุ่งเน้นการหาแหล่งทุนมาขับเคลื่อน
  4. การสร้างการมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ต้องแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือของชุมชนกับการดำเนินงานอย่าง 100 เปอร์เซ็นต์
  5. จังหวัดได้ให้ความสำคัญในการผลักดันอย่างเต็มที่เป็นเวลาต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 7 ปี
    (ผู้ว่าฯ ประกาศให้ Geopark เป็นวาระจังหวัด มอบหมายงานให้ทุกระดับทำงานร่วมกัน พร้อมร่วมกันสร้างการรับรู้อย่างต่อเนื่องโดยทั่วกัน) ใส่ไปในแผนพัฒนาจังหวัด ท่านผู้ว่ากล่าวไว้ว่า “ต้องยกระดับโคราชสู่จีโอพาร์คโลก” และ ท่านอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ยังกล่าวไว้ว่า “สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณี “ต้องขับเคลื่อนให้ “อุทยานธรณีโคราช” หรือ “โคราชจีโอพาร์ค” เป็นจีโอพาร์คโลก์ให้ได้”
  6. ส่วนราชการต่าง ๆ ทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ ได้ให้การสนับสนุนส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง ทั้งบุคลากร งบประมาณ สถานที่ ช่วยเหลือกันทุกภาคส่วน
  7. อุทยานธรณี ต้องประกาศตัวเองให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ เพื่อการรับรู้เป็นที่รู้จัก ผ่านการประชุม สัมมนาระดับโลก ระดับภูมิภาค ซึ่งมีการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีทั่วโลก พร้อมยังต้องหาโอกาส ทำความร่วมมือ MOU กับนานาชาติด้วย

ทั้งนี้ ท่านยังได้กล่าวให้กำลังใจ อุทยานธรณีประเทศไทย น้องใหม่ทุก ๆ ที่ ขอให้ประสบผลสำเร็จในลำดับต่อไป พัฒนาจากอุทยานธรณีประเทศไทย สู่ อุทยานธรณีโลก ให้ได้

ถอดความสรุป โดย อาจารย์ภูมิ หมั่นพลศรี 086-0580505 สาขาวิชาการท่องเที่ยว คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ในกิจกรรม “เสวนาสร้างการรับรู้ด้านอุทยานธรณีและถอดบทเรียนอุทยานธรณีในประเทศไทย” ณ โรงแรมพลูแมน จังหวัดขอนแก่น วันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 เวลา 13.30 น.

ตระกูล ภูพวงเพชร /รายงาน
www.kalasinnews.com