• อาทิตย์. พ.ค. 5th, 2024

มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ จัดการประชุมทางวิชาการ ESTACON2023

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นเจ้าภาพของการประชุมวิชาการวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสถาปัตยกรรมศาสตร์ ครั้งที่ 14 (ESTACON2023) ณ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ โดยวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และภาคีเครือข่ายสถาบันการศึกษา เพื่อเป็นเวทีสำหรับถ่ายทอดผลงานประสบการณ์ วิชาชีพวิศวกรรม เทคโนโลยี และสถาปัตยกรรมศาสตร์ โดยมี ศ.กิตติคุณ นพ. สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ราชบัณฑิต ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กสว.) และ นายกสภามหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์, ศ.ดร.สัมพันธ์ ฤทธิเดช เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา, ผู้แทนนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, ผู้แทนภาคีเครือข่ายสถาบันการศึกษา วิทยากร หัวหน้าส่วนราชการ, บุคลากรทางการศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชน และสื่อมวลชนเข้าร่วมงานจำนวนมาก

วันนี้ (25 สิงหาคม 2566) เวลา 09.30 น. รองศาสตราจารย์จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดงานวิชาการวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสถาปัตยกรรมศาสตร์ ครั้งที่ 14 ประจำปี 2566 (ESTACON2023) ซึ่งมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์จัดขึ้นที่ ห้องประชุมพยับหมอก ชั้น 3 อาคารสำนักงานอธิการบดีและบริหารสินทรัพย์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ในระหว่างวันที่ 25-26 สิงหาคม 2566 เพื่อเป็นเวทีสำหรับถ่ายทอดผลงานประสบการณ์ วิชาชีพวิศวกรรม เทคโนโลยี และสถาปัตยกรรมศาสตร์ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ ให้แก่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชน ผ่านรายงานการประชุมวิชาการ อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยในปีนี้มีผู้ เข้าร่วมประชุมจากหลากหลายสถาบันการศึกษา ประกอบด้วย นักศึกษา คณาจารย์ และนักวิจัย จากภาครัฐและภาคเอกชนทั่วประเทศ จำนวนกว่า 500 คน โดยมีบทความส่งเข้าร่วมนำเสนอผลงานรวม ทั้งสิ้น 235 บทความ ประกอบด้วย บทความนำเสนอในภาคบรรยาย 189 บทความ และบทความนำเสนอในภาคโปสเตอร์ 46 บทความ

อาจารย์สรายุทธ ฐิตะภาส คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กล่าวว่า การประชุมวิชาการนี้มีวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นเจ้าภาพของการประชุม และมีกลุ่มภาคีเครือข่ายจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่มีการจัดการเรียนการสอน ด้านวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสถาปัตยกรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินโครงการประชุมในครั้งนี้ ซึ่งประกอบด้วย 1) คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน 2) คณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน 3) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น 4) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล 6) คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และ 7) คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เพื่อเป็นเวทีสำหรับถ่ายทอดผลงานประสบการณ์วิชาชีพวิศวกรรม เทคโนโลยีและสถาปัตยกรรมศาสตร์ รวมถึงการรวบรวมข้อเสนอแนะข้อคิดเห็น ทิศทางวิศวกรรมที่เหมาะสม และทันสมัย เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชน ผ่านรายงานการประชุมวิชาการ อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ซึ่งปัจจุบันเป็นครั้งที่ 14 โดยผลงานทางวิชาการที่ได้รับการเผยแพร่ ตีพิมพ์ในงานประชุมวิชาการ จะผ่านคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อตรวจสอบและประเมินบทความงานวิจัย ทั้งภาคบรรยายและโปสเตอร์ การประชุมวิชาการระดับชาติในวันนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมจากหลากหลายสถาบันการศึกษา ประกอบด้วย นักศึกษา คณาจารย์ และนักวิจัย จากภาครัฐและภาคเอกชนทั่วประเทศ โดยมีบทความส่งเข้าร่วมนำเสนอผลงานรวมทั้งสิ้น 235 บทความ ประกอบด้วย บทความนำเสนอในภาคบรรยาย 189 บทความ และบทความนำเสนอในภาคโปสเตอร์ 46 บทความ

ด้านรองศาสตราจารย์จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงและรวดเร็วของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้รูปแบบการจัดการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องรับมือกับความซับซ้อนและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อให้เราสามารถตอบสนองความต้องการของสังคมและอุตสาหกรรมได้อย่างเหมาะสม การวิจัยในด้านวิศวกรรม วิทยาศาสตร์ และสถาปัตยกรรมที่เน้นการแก้ปัญหาชุมชนให้เกิดความยั่งยืน สามารถส่งผลให้เกิดนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและความต้องการของชุมชน อีกทั้งยังสามารถเพิ่มคุณค่าของทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่นั้น ในขณะเดียวกัน งานวิจัยยังสามารถสร้างฐานความรู้ใหม่ที่ชุมชนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ และนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากงานวิจัยสามารถเป็นแหล่งสร้างงานและพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนได้ ด้วยเหตุนี้ กระผมจึงมีความเชื่อมั่นว่า การประชุมทางวิชาการระดับชาติในครั้งนี้จะเป็นเวทีเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านวิศวกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสถาปัตยกรรมสู่การพัฒนาชมชนอย่างยั่งยืน ตลอดจนเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างเครือข่ายทางวิชาการ และวิชาชีพ ให้เกิดความเข้มแข็งยิ่งขึ้น

ตระกูล ภูพวงเพชร /รายงาน
www.kalasinnews.com